ประวัติโรงพยาบาลวังม่วง
ปี พ.ศ. 2501 ก่อสร้างสถานีอนามัยตำบลคำพราน ซึ่งเป็นสถานีอนามัยประจำ ต.คำพราน อ.วังม่วง ซึ่งต่อมาได้ใช้พื้นที่สถานีอนามัยแห่งนี้ก่อสร้างร.พ.วังม่วงในเวลาต่อมา
ปี พ.ศ. 2534 ทางราชการได้รับเงินบริจาคจำนวน 10 ล้านบาท จาก คุณลุงประสิทธิ์ สัทธรรมซึ่งเป็นชาวอำเภอวังม่วง เพื่อก่อสร้างเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง โดยใช้นามสกุลผู้บริจาคร่วมเป็นชื่อของโรงพยาบาล ว่า"โรงพยาบาลวังม่วงสัทธรรม"
วันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2535 ร.พ.วังม่วงสัทธรรมได้เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนถือว่าวันนี้เป็นวันเกิดของโรงพยาบาลและมีการทำบุญเนื่องในวันเกิดของโรงพยาบาลทุกปีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี พุทธศักราช2542 โรงพยาบาลได้ขยายขนาดเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง เปิดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน โดยมีภารกิจหลัก "ด้านส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพแบบองค์รวม ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม"
โดยมีระบบบริหารงานแบบประชาธิปไตย ควบคู่กับหลักธรรมะทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีหัวหน้างานทุกคนร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล ทำให้การสื่อสารประสานงาน มีความคล่องตัวและรวดเร็ว
โดยรับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชนในเขต อำเภอวังม่วง อำเภอมวกเหล็กจังหวัดสระบุรี และมีสถานีอนามัยเครือข่ายในการบริการสุขภาพ จำนวน 7 แห่ง รวมทั้งเขตพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงได้แก่ อำเภอพัฒนานิดม จังหวัดลพบุรี
โดยมีผู้อำนวยการท่านแรกนายแพทย์ธำรงค์ศักดิ์ คงมั่น ท่านที่สอง พญ.จงกล เลิศเธียรดำรง และท่านที่สามนายแพทย์เอกภพ สะเดา จนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้จะมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นภาวะที่ขาดแคลนแพทย์ บุคลากรอื่นๆ หรืองบประมาณ แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ไม่เคยย่อท้อต่อการพัฒนา
จากการที่ นายแพทย์เอกภพ สะเดา เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลด้านต่าง ๆ ภายใต้ภาระหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ว่า
"เป็นโรงพยาบาลชุมชน ให้บริการด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟู
สภาพ เพื่อประชาชนสุขภาพดี"
ตามความเชื่อที่ว่า การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม โดยยืดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เน้นการพัฒนาคน เพื่อพัฒนางาน นำไปสู่การพัฒนาโรงพยาบาล เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลคุณภาพ โดยกำหนดเป้าหมายในการทำงานอย่างชัดเจนเพื่อให้บรรลุซึ่งวิสัยทัตน์ของโรงพยาบาล คือ
โรงพยาบาลชุมชนที่ "บริการดี มีมาตรฐาน บูรณาการงานสู่ชุมชน"
ด้วยพลังแห่งความตั้งใจของผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ ที่มีความมุ่งมั่น " ร่วมคิด ร่วมทำ" เพื่อให้เกิดโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ และสามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน ตลอดจนสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้