ประวัติโรงพยาบาลวัดเพลง
ผู้เริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลวัดเพลงคือ พระครูโสภณสิริคุณ เจ้าคณะอำเภอวัดเพลง และเจ้าอาวาสวัดเพลง โดยที่ท่านได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนในเขตอำเภอวัดเพลงและอำเภอใกล้เคียง เมื่อเจ็บป่วยต้องเดินทางไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลราชบุรี ซึ่งการเดินทางในสมัยนั้นยากลำบากมากเนื่องจากต้องเดินทางโดยทางเรือ ในปี พ.ศ.2508 ท่านจึงได้ทำเรื่องเสนอกรมอนามัย ขอตั้งสถานีอนามัยชั้น 1
1.ขอตั้งสถานีอนามัยชั้น 1 ที่หมู่5 ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง ในเนื้อที่ของวัดทั้งสิ้น
2.ทางวัดให้ทางราชการใช้ธรณีสงฆ์จำนวน 8 ไร่ 2 งานปลูกสร้างอาคารและบ้านพัก
3.ทางวัดบริจาคสมทบ 80,000 บาท และบริจาคเพิ่มจนกว่าจะสำเร็จ
นายแพทย์เอิบ ณ บางช้าง อธิบดีกรมอนามัยในสมัยนั้น พร้อมทั้งคณะได้มาดูสถานที่ และตกลงให้ทำการก่อสร้างได้ พระครูโสภณสิริคุณจึงเรียกกรรมการวัด คณะศิษย์ และประชาชนร่วมปรึกษาหารือ กำหนดวันวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2509 ได้รับเงินสมทบทั้งสิ้น 387,000 บาท และทางราชการได้จัดสรรงบประมาณในปี 2510 จำนวน 150,000 บาท รวม 537,000 บาท สร้างเป็นอาคาร 1 หลัง ซึ่งเป็นทั้งอาคารผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในในอาคารเดียวกัน บ้านพัก 5 หลัง โรงปั่นไฟฟ้าและสูบน้ำ รั้วทางด้านหน้า ใช้เวลาก่อสร้าง 270 วัน แล้วเสร็จในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2511 เปิดใช้บริการในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2511 โดยย้ายวัสดุครุภัณฑ์และเจ้าหน้าที่จากอนามัยชั้น 2 มาให้บริการ ซึ่งในระยะแรกยังไม่มีแพทย์ประจำ นอกจากนั้นทางวัดยังได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์ เป็นจำนวนเดือนละ 1,000 บาท เป็นจำนวน 5 ปี โดยทำสัญญาผูกพันว่าจะมาทำงานที่อำเภอวัดเพลงหลังจากสำเร็จการศึกษาซึ่งในปี 2513 โรงพยาบาลวัดเพลงมีแพทย์ท่านแรกชื่อ นายแพทย์ทรงพันธ์ เอี่ยมบุตรลบ มาประจำ และได้ทำพิธีเปิดโรงพยาบาลอำเภอขนาด 10 เตียง เป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513 โดยประธานพิธีคือ นายแพทย์เอิบ ณ บางช้าง อธิบดีกรมอนามัยในขณะนั้น
ในช่วงปี 2513 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดโรงพยาบาล มีเจ้าหน้าที่ 6 คน และคนงาน 1 คน โดยมีแพทย์ 1 คน คือ นายแพทย์ทรงพันธ์ เอี่ยมบุตรลบ พยาบาล 2 คน ผดุงครรภ์ 1 คน และพนักงานอนามัย 1 คน นายแพทย์ทรงพันธ์ เอี่ยมบุตรลบ ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลวัดเพลงนานถึง 4 ปี หลังจากที่ท่านได้ย้ายไปแล้ว ช่วงปี 2517-2521 มีแพทย์หมุนเวียนมาประจำ
ในปี 2522-2525 เป็นช่วงที่ประชาชนอำเภอวัดเพลง ได้แพทย์ที่เป็นที่รักใคร่ของประชาชนแม้ปัจจุบันยังมีผู้กล่าวถึงอยู่เสมอคือ น.พ.สหเทพ สว่างเนตร ท่านเป็นผู้เสียสละและอุทิศเวลาเพื่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง ประกอบกับมีจิตวิทยาในการพูดกับผู้ป่วย ทำให้มีผู้มารับบริการที่โรงพยาบาลอย่างคับคั่ง จนเตียงไม่เพียงพอที่จะรองรับต้องใช้เตียงเสริมบริเวณทางเดิน บุคลากรได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากเจ้าหน้าที่ 9 คน และคนงาน 2 คน ในปี พ.ศ.2522 เพิ่มเป็นเจ้าหน้าที่ 19 คน และคนงาน 11 คน ในปี พ.ศ.2525 และบ้านพักเพิ่มจาก 5 หลังเป็น 8 หลัง ช่วงที่ น.พ.สหเทพ สว่างเนตร เป็นผู้อำนวยการได้วางรากฐานการบริการของโรงพยาบาลเป็นอย่างดี และสร้างโรงพยาบาลให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน
หลังจาก น.พ.สหเทพ สว่างเนตร ย้ายจากโรงพยาบาลวัดเพลง เพื่อไปศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมกระดูก ผู้ที่ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการแทนคือ น.พ.วุฒิชัย บุณยนฤธี ท่านได้ประจำอยู่โรงพยาบาลวัดเพลง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526-2528 เนื่องจากมีปริมาณผู้ป่วยมาต่อเนื่องจากช่วงที่ น.พ.สหเทพ สว่างเนตร อยู่จึงได้งบประมาณ 3,045,670 บาท ก่อสร้างอาคารพักผู้ป่วยใน 30 เตียง และก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2527 ทำให้การบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยในไม่ต้องแออัดกันที่อาคารเดิม สามารถมาพักที่อาคารหลังใหม่ นอกจากนั้นสิ่งก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นได้แก่ บ้านพักฝึกอบรม และบ้านพักระดับ 3-4 อย่างละ 1 หลัง และตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นไปโรงพยาบาลวัดเพลงมีแพทย์ประจำเพิ่มอีก 1 คน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของแพทย์โดย น.พ.สมบูรณ์ สันติกชกร เป็นแพทย์ประจำท่านแรกที่มาประจำที่โรงพยาบาลวัดเพลง หลังจากที่ น.พ.วุฒิชัย บุณยนฤธี ได้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2529 น.พ.สมชัย โชคพัฒนาพงศ์ มาเป็นผู้อำนวยการแทนโดยมี น.พ.สุวัฒน์ ก่อกิจสวัสดิ์ เป็นแพทย์ประจำในปี พ.ศ.2529 และน.พ.ศิริชัย วิชาดากุล เป็นแพทย์ประจำปี 2530 แพทย์ทั้ง 2 ท่านได้วางระบบการบริการที่ดีขึ้น และกำลังเจ้าหน้าที่และคนงานเพิ่มขึ้นเป็น 30 คน และ 15 คน ตามลำดับ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีผู้รับบริการเฉลี่ย 74 คนต่อวันทำการ และมีผู้ป่วยในที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เฉลี่ย 7 คนต่อวัน สำหรับสิ่งก่อสร้าง ได้มีการก่อสร้างประปาโรงพยาบาลขึ้น ใช้งบประมาณ 980,000 บาท ซึ่งดำเนินการเสร็จในปี 2530
หลังจากที่ น.พ.สมชัย โชคพัฒนาพงศ์ ได้ย้ายไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง ทางศัลยกรรมกระดูกในปี 2531 น.พ.ชลทิศ อุไรฤกษ์กุล ได้ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการแทนในช่วงนี้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีระบบมากขึ้นจากรากฐานที่ผู้อำนวยการท่านก่อนและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลระดับต่างๆ ได้วางไว้ในช่วงปี 2513-2531 ประกอบกับการมีจำนวนบุคลากรที่เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยในปี 2536 มีเจ้าที่ 51 คน คนงาน 26 คน และมีแพทย์ประจำหมุนเวียนกันมาอยู่
จากความร่วมมือและเอาใจใส่ต่อผู้ป่วยของบุคลากรในทุกสาขาวิชาชีพในโรงพยาบาลทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ผู้รับบริการเพิ่มจาก 21,000 ครั้งต่อปี ในปี 2531 เป็น 29,000 ครั้งต่อปี ในปี 2533 และจำนวนผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เพิ่มจาก 7 คนต่อวัน ในปี 2531 เป็น 21 คนต่อวัน ในปี 2533 จากปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้กระทรวงสาธารณสุขยกฐานะโรงพยาบาลวัดเพลง จากโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2533