โรงพยาบาลสกลนคร เป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ขนาด 768 เตียง
สถานที่ตั้ง
โรงพยาบาลสกลนคร ตั้งอยู่เลขที่ 1041 ถนนเจริญเมือง ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร รหัสไปรษณีย์ 47000 บริเวณด้านหลังของโรงพยาบาล อยู่ติดหนองหาร ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และและใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย และมีทัศนียภาพที่สวยงาม ต่อมาได้มีการขยายพื้นที่รวมเป็น 54 ไร่ 3 งาน
ความเป็นมา
โรงพยาบาลสกลนคร ได้เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2494 ในพื้นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งเป็นวัดร้าง มีชื่อว่า “วัดสระแก้ววิทยาราม” ซึ่งยังคงให้เห็นรอยเดิมอยู่ คือ “อนุสสาวรีย์บรรจุอัฎฐิพระพินิจบำรุงราษฎร์ (คาย นิตยสุภาพ) ตามประวัติเคยเป็นผู้อุปถัมภ์วัดนี้ เป็นครูสอนภาษาไทย เป็นครูคนแรกของเมืองสกลนคร ท่านเป็นผู้มีอุปการะคุณต่อชาวสกลนคร เป็นอันมากจึงยังรักษา อนุสาวรีย์ท่านไว้ และยังมีพระประทาน องค์ใหญ่ ชื่อว่า หลวงพ่อ “เลไลย์” จากพื้นที่ธรณีสงฆ์ มาเป็นโรงพยาบาล โดยนายแพทย์ กิตติ มฤคทัต เป็นผู้รับสัญญา เนื้อที่เริ่มก่อสร้างโรงพยาบาล มีประมาณ 10 ไร่
ซึ่งปีต่อมากรมประมงได้ยกที่ดินหนองหาร ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับโรงพยาบาลสกลนคร ให้เป็นพื้นที่ของโรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลสกลนคร ได้เปิดทำการ 24 มิถุนายน 2496 ใช้เวลาสร้าง 2 ปี และทางโรงพยาบาลได้ถือเอา วันที่ 24 มิถุนายน 2496 เป็นวันเกิดของโรงพยาบาล มีการทำบุญเป็นประจำทุกปี
ในระยะแรกเปิดทำการ ประกอบด้วยแพทย์ 1 คน ทันตแพทย์ 1 คน พยาบาลและผดุงครรภ์ 2 คน และพนักงานผู้ช่วยรวมทั้งสิ้นประมาณ 20 คน โดยมีนายแพทย์รำไพ ศิริขันธ์ เป็นผู้อำนวยการ คนแรก อาคารทั้งหมดตอนนั้น มี 3 หลัง อาคารผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยชาย ผู้ป่วยหญิง เวลาต่อมาได้สร้างตึกรังสีและผ่าตัดเพิ่มเติม บรรยากาศการทำงานเวลานั้น เจ้าหน้าที่ทุกคนล้วนต้องทำงานหนักเนื่องจากสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานยังมีไม่พอเพียง เช่น ไฟฟ้า ก็ใช้ได้แค่ครึ่งวันการต้มเครื่องมือแพทย์ก็ต้มด้วยเตาถ่าน ผู้ป่วยก็ต้องนอนกางมุ้ง ตอนเย็นพนักงานผู้ป่วยแจกมุ้ง ตามเตียง ตอนเช้าก็เก็บเข้าตู้เป็นต้น
ต่อมา เมื่อปีพ.ศ.2503 หลวงปู่ฝั้น อาจาโร มาอาพาธ และได้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสกลนคร ด้วยสภาพความขาดแคลน ทำให้คหบดีของจังหวัดสกลนครในขณะนั้น คือ นายเขียน และ นางบัวแถว มาลัยกรอง มีจิตศรัทธา สร้างอาคารสำหรับดูแลพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธขึ้น คือ ตึกบัวแถว และต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นอาคารผลิตยา และผลิตน้ำเกลือ เมื่อได้ตึกสงฆ์หลังใหม่
ในปี พ.ศ. 2509 นายแพทย์ สหัส อรุณเวช ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการคนต่อมา ได้มีการสร้างอาคารเรือนไม้ สำหรับผู้ป่วยคลอดชื่อตึกนรีเวช (เดิม) และปัจจุบันเป็นอาคารดอกลำดวนนอกจากนั้นโรงพยาบาลยังมีภาระกิจ ในการออกหน่วยปฏิบัติการทางจิตวิทยาร่วมกับทหารเสนารักษ์ บางโอกาสออกไปปฏิบัติงานเคียงบ่าเคียงไหล่ กับทหารในพื้นที่เสี่ยงภัย สมัยนั้นมี ผ.ก.ค. มาก สกลนคร เป็นเขตพื้นที่สีชมภู
ต่อมา ในปีพ.ศ.2512 นายแพทย์จิตติ เจริญทรัพย์ ในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสกลนคร ได้ทำการก่อสร้างซักฟอก และโรงครัวเพิ่มเติม (โรงครัวเก่าปัจจุบันเป็นเรือนพักแพทย์ใหม่) พร้อมกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาพระราชทานเตียงผู้ป่วย และอุปกรณ์การแพทย์แก่โรงพยาบาล เป็นเครื่องมือที่ทันสมัยมากในตอนนั้น ยังความปลาบปลื้มแก่ พสกนิกร และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสกลนคร เป็นล้นพ้น
ในห้วงเวลา ดังกล่าว นอกจากสภาพความยากจน และความทุรกันดารของพื้นที่ที่ห่างไกลไม่มีสถานบริการสาธารณสุขเพียงพอแล้ว จังหวัดสกลนคร ยังเป็นพื้นที่สีชมภู มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับผู้ก่อการร้ายอยู่เรื่อย ๆ จึงได้มีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งในการออกปฏิบัติงานนั้น แพทย์ พยาบาลและทีมงานเจ้าหน้าที่ จะต้องออกเดินทางโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ของ ตำรวจ ทหารบางครั้งอยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อชีวิต เสี่ยงต่อการถูกลอบยิง แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ออกปฏิบัติงานร่วมกันด้วยความเสียสละ และความรับผิดชอบ มีครั้งหนึ่งพยาบาลท่านหนึ่ง เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จย่า คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีย์เสด็จมาประทับน้ำอูน ตอนนั้นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกตรวจที่นั้น พระองค์ได้พระราชทานน้ำดื่มด้วยพระหัตถ์พระองค์เองทุกทุกคน ยังความปลาบปลื้มแก่ผู้ปฏิบัติงานเป็นล้นพ้น
ในปีพ.ศ.2513 เรือ อากาศโท นายแพทย์ทวีลาภ ทวีประศาสน์ ได้ย้ายเป็นผู้อำนวยการคนต่อมา ได้มีการก่อสร้างอาคารใหม่ขึ้น 4 หลัง คือ ตึกอำนวยการหรือตึกผู้ป่วยนอกหลังใหม่ ตึกอายุรกรรม กุมารเวชกรรมในปี 2517และอาคารผู้ป่วยพิเศษรวม และได้รับใหม่เพิ่มเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ในปีพ.ศ.2517–2527 ร้อยโทนายแพทย์ โอภาส บุญสิทธิ์ ได้ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร ซึ่งนับได้ว่า เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง อาทิเช่น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และ พณฯ ท่าน พลเอกเปรม ติณสุลานนท์ แม่ทัพภาคที่ 2 ในขณะนั้นได้ กรุณารณรงค์หาผู้บริจาคสมทบการก่อสร้างตึกพิเศษสงฆ์ได้รับเงินบริจาครวม 1,946,000 บาท ปัจจุบันแผนกสงฆ์อยู่ชั้นที่ 2และชั้นล่างเป็นหน่วยไตเทียม ศูนย์สุขภาพต่อเนื่อง คลินิกนมแม่ ห้องยาเบอร์24และศูนย์HA พร้อมกันนั้นโรงพยาบาลสกลนครยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างอาคารอีก 6 หลัง คือ ตึกผู้ป่วยศัลยกรรมในปี 2521ตึกผู้ป่วยอายุรกรรมปี 2523 ตึกผ่าตัดใหม่ ตึกคลอด อาคาร เอกซเรย์ และตึกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน
ในเวลานั้น ถึงแม้โรงพยาบาลจะเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังมีปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องช่วยชีวิตทางการแพทย์อีกเป็นจำนวนมาก จึงมีการปรึกษาหารือกันหลาย ๆ ฝ่าย และจัดงานราตรีสีขาวขึ้นในวันที่ 9 เมษายน 2527 มีรายได้จากการจัดงาน 109,626 บาท พร้อมกับการร่วมบริจาคเงินสมทบจากพ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดสกลนคร บริษัทห้างร้านและชมรมต่างๆ รวม 324 ราย รวมเป็นเงินสมทบ จัดซื้อหา อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์เป็นเงิน 2,224,126 บาท และโรงพยาบาลสกลนคร จึงสามารถพัฒนาความพร้อมที่จะเปิดให้บริการ แก่ผู้ป่วยหนัก ICU ได้เป็นครั้งแรก ในปี 2527 หลังจากนั้นในปี 2533 จึงได้สร้างอาคารผู้ป่วยหนักICUขึ้นโดยปัจจุบันชั้นบนของอาคารเป็นแผนกผู้ป่วยตา
นอกจากนี้แล้ว โรงพยาบาลสกลนคร ยังตระหนักถึงความสำคัญของการให้บริการสาธารณสุข ในเชิงรุกโดยให้จัดตั้งฝ่ายเวชกรรมสังคมซึ่งมีบทบาทหน้าที่ ในการประสานงานให้บริการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรคงานสาธารณสุขมูลฐานและงานรักษาพยาบาลในชุมชนในระหว่างนั้นท่านผู้อำนวยการได้เป็นผู้นำทีมที่สำคัญในการส่งเสริมสุขภาพการควบคุมป้องกันโรคงานสาธารณสุขในเชิงรุกโดยให้จัดตั้งฝ่ายเวชกรรมสังคมซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการประสานงานการให้บริการส่งเสริมสุขภาพการควบคุมป้องกันโรคงานสาธารณสุขมูลฐานและงานรักษาพยาบาลในชุมชนในระหว่างนั้นท่านผู้อำนวยการได้เป็นผู้นำทีมที่สำคัญในการกระตุ้นให้เกิดโครงการบัตรสุขภาพ มีการนัดประชุมชาวบ้านเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนบัตรสุขภาพในเขตหมู่บ้านที่โรงพยาบาลสกลนคร รับผิดชอบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีส่วน ในการดูแลตนเองขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ในเขตเทศบาลเมืองสกลนครท่านได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุการเปิดให้มีคลินิคผู้สูงอายุในโรงพยาบาลสกลนครให้การบริการคลินิคยาเสพติดการริเริ่มโครงการบัตรสุขภาพนักเรียน โดยมีโรงเรียนต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งกระทรวงสาธารณสุข ได้นำไปเป็นรูปแบบของการประกันสุขภาพ แก่นักเรียนประถมศึกษาในปัจจุบันนอกจากหน้าที่หลักแล้ว ท่านผู้อำนวยการ ยังเห็นความสำคัญของการเข้าร่วมกิจกรรมตามประเพณีจังหวัดสกลนคร เช่น การร่วมแข่งเรือ โดยจัดหาเรือไว้ 2 ลำ ชื่อว่า นางพญาวารี ลำที่ 1 ลำที่ 2 นางเทวี สระแก้ว ฝีพายก็คือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเองและมีการประกวดกระทงประกวดนางนพมาศในวันลอยกระทงจัดงานสงกรานต์สรงน้ำหลวงพ่อปาลิไลย์พระประธานและสรงน้ำผู้ใหญ่ทุกปีตลอดจนการแข่งขันกีฬาสีภายในเจ้าหน้าที่ ยังทำให้บรรยากาศของความสมาน สามัคคี และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ในช่วงปลาย ปีพ.ศ.2527 นายแพทย์ ประสิทธิ์ สัตธาพงค์ เป็นผู้อำนวยการคนต่อมา ได้ริเริ่มให้มีการพัฒนาคุณภาพของการบริการตามนโยบายโครงการพัฒนาระบบบริการของสถานบริการสาธารณสุข หรือ พ.บ.ส. ร่วมทั้งการรณรงค์ด้านสาธารณสุขมูลฐาน ในเขตเมือง การพัฒนาด้านอาคารสถานที่ ได้มีการก่อสร้าง อาคารเพิ่มเติม 3 หลัง คือ อาคารชันสูตรและธนาคารเลือด แฟลตแพทย์ แฟลตพยาบาล
ในช่วงปีพ.ศ.2532 นายแพทย์ สุบิน ศิริสังข์ไชย ได้ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการได้มีการเผยแพร่สื่อมวลชน เพิ่มมากขึ้น มีการก่อสร้างตึกสูติ-นรีเวชกรรมปี 2533และตึกผู้ป่วยอายุรกรรมชายหลังใหม่ชั้นในปี 2535 การผลักดันให้โรงพยาบาลสกลนคร ได้รับการยกระดับเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ตามแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 7 เป็นต้นมา
จากการเพิ่มจำนวนของผู้มารับบริการของ โรงพยาบาลสกลนครทำให้ผู้ป่วยและญาติ ที่ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล มีความลำบากในการหาที่พัก บางครั้งต้องนอนตามระเบียงตึก ท่านผู้อำนวยการนายแพทย์สุบิน จึงได้ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ในขณะนั้น โดยได้รับการสนับสนุน งบประมาณ จากงบพัฒนาชนบทจำนวน 4 แสนบาท ทำการก่อสร้างศาลา เรือนพักญาติขึ้นโดยสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการแก่ญาติผู้ป่วยในวันที่10 ก.ค.41 ในอาคารนอกจากญาติผู้ป่วยจะใช้เป็นที่พักอาศัยแล้ว ยังได้ประดิษฐานพระพุทธรูป เพื่อไว้ให้สักการะ
นอกจากเรือนพักญาติแล้ว นายแพทย์สุบิน ศิริสังข์ไชย ได้จัดทอดผ้าป่าขึ้น เพื่อหาเงินสมทบทุน สร้างตึกพิเศษ 36 หลัง มูลค่า 21 ล้านบาท ในวโรกาศที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชนีนาถมีพระชนมายุ ครบ 60 พรรษา โดยมีรายได้จากการทอดผ้าป่า 422,167 บาท ผู้มีจิตศรัทธา 11 ราย บริจาค 1,760,000 บาท และทรงพระราชทานเงินสมทบทุน 1,500,000 บาท และท่านพระอาจารย์แบน วัดดอยธรรมเจดีย์ อำเภอโคกศรี ได้ให้เงินสมทบอีก จนสร้างตึกสำเร็จลุล่วงไปด้วยและได้ให้เปิดบริการ
ในเดือนตุลาคม ปีพ.ศ.2535 ร้อยโท นายแพทย์ โอภาส บุญสิทธิ์ได้ย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร อีกครั้งหนึ่งซึ่งท่านได้กลับมาพร้อมกับโครงการใหม่ ๆ คือ โครงการหัวใจสัญจร การเปิดคลินิค กระตุ้นพัฒนาการเด็ก โครงการขยายบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกเวลาราชการ ซึ่งให้บริการตั้งแต่ 18.30-20.30 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์และโครงการพัฒนคุณภาพบริการของโรงพยาบาล เริ่มโครงการก่อสร้างตึก ร่มฟ้าอนุสรณ์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2535 โดยพระภาวนาวิสุทธิญาณเถร(พระอาจารย์แบน ธนากโร)เจ้าอาวาสวัดดอยธรรมเจดีย์พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ เพื่อน้อมถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ซึ่งได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามอาคารว่า ตึก “ร่มฟ้าอนุสรณ์” เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในวันที่ 30ก.ย2536
การเพิ่มจำนวนผู้มารับบริการในโรงพยาบาลสกลนคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จแปรพระราชฐาน มาประทับแรมที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์พระราชกรณีย์กิจที่สำคัญคือ ทรงโปรดให้คณะแพทย์อาสาฯ ออกบริการตรวจรักษาโรคแก่ประชาชน และทรงรับผู้ป่วยที่ยากไร้ ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีประชาชนมารับบริการ ตรวจรักษาโรคผ่าตัด และนอนรักษาตัว ในโรงพยาบาลสกลนคร เป็นจำนวนมาก
ในวันที่ 7 ตุลาคม 2536 นายแพทย์นิสัย ตงศิริ ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร ได้มีการก่อสร้างอาคารเภสัชกรรมและคลังยาขึ้นในปีนี้ด้วย
ปีพ.ศ.2538 วันที่1 ตุลาคมนายแพทย์เสริมศักดิ์สุทธิคณาวิวัฒน์ได้ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการและได้สร้างตึกกายภาพบำบัดไว้เป็นอนุสรณ์ก่อนเกษียณอายุราชการ
ในวันที่ 16 ตุลาคม 2539 นายแพทย์ ดิเรก อุดมพฤกษ์ ได้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร และในช่วงนี้มีการจัดตั้งชมรมแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาล และจำหน่ายยาสมุนไพรในโรงพยาบาลสกลนคร และก่อนเกษียณอายุราชการ นายแพทย์ดิเรก อุดมพฤกษ์ ได้สร้างอาคารสมุนไพร “อุดมพฤกษ์” ไว้เป็นอนุสรณ์ก่อนเกษียณ ปัจจุบันก็ได้ใช้เป็นสถานที่จำหน่ายยาสมุนไพร อยู่ข้าง ๆ โบสถ์ หลวงพ่อเลไลย์ซึ่งเป็นสถานที่สวยงามมาก โรงพยาบาลสกลนคร เป็นสถานที่แห่งเดียวที่มีโบสถ์ สวยงาม อยู่กลางโรงพยาบาล จากจำนวนผู้ป่วยอุบัติเหตุที่มีมากขึ้นทำให้จำนวนเตียงมีไม่เพียงพอ จึงได้มีการก่อสร้างตึกศัลยกรรมกระดูกขึ้นในปี 2540 และต่อมาในปี 2542 ได้ก่อสร้างตึกพิเศษหลังใหม่ขึ้นคือ "ตึกร่มฉัตรอนุสรณ์"
ในวันที่ 19 ตุลาคม 2543 นายแพทย์อุโฆษา ปฐมาจารย์กุล ได้ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร มีการก่อสร้างอาคารกายภาพบำบัดและได้มีการพัฒนาเรื่อยมา ในพื้นที่ 50 ไร่ ประกอบด้วยอาคารทั้งสิ้น 44 หลัง เป็นอาคารพยาบาล 9 หลัง ปฏิบัติการ 13 หลัง และเป็นอาคารที่พักอาศัย 22 หลัง รวมจำนวนเตียงผู้ป่วยทั้งหมด 539 เตียง ต่อมาในปี 2548 ได้เปิดตึกศัลยกรรมประสาทจำนวน 25 เตียง ทำให้โรงพยาบาลสกลนคร มีจำนวนเตียงผู้ป่วยใน รวมทั้งสิ้น 564 เตียง
1 ตุลาคม 2548 รักษาการผู้อำนวยการโดยนายแพทย์วันชัย จ่ายเจริญ
วันที่ 5 เมษายน 2549 นายแพทย์ พิชาติ ดลเฉลิมยุทธนาได้ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร
เดือนมกราคม ปีพ.ศ.2550 คณะศิษย์แห่งหลวงพ่อพระอาจารย์แบน ธนากโร ร่วมกันสร้าง "ตึกร่มโพธิ์" ให้โรงพยาบาลสกลนคร เพื่อบูชาคุณหลวงพ่อในวาระอายุครบ 80 ปี แล้วเสร็จในปี 2552
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนครคนปัจจุบัน คือ นายแพทย์อภิชาต อภิวัฒนพร เริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551
ปีพ.ศ.2552 โรงพยาบาลสกลนคร เปิดใช้ตึกร่มโพธิ์ ชั้น 1 เป็น OPD ศัลยกรรมกระดูก ชั้น 2 ไตเทียม ชั้น 3-5 พิเศษสงฆ์ และห้องพิเศษ และได้เปิดหอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ CCU และหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันโรงพยาบาลสกลนครเป็นโรงพยาบาล ขนาด 600 เตียง และกำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารศัลยกรรมหลังใหม่ และอาคารแพทย์แผนไทยและกายภาพบำบัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2553
ปี 2554 โรงพยาบาลสกลนครได้ขยายงานการบริการให้เต็มศักยภาพของโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ โดยบริการที่เพิ่มขึ้น คือ เปิดหอผู้ป่วยหนักทางศัลยกรรมระบบประสาท การพยาบาลผู้ป่วยนอกที่สำคัญ คือ การเปิดบริการห้องตรวจโรคทางอายุรกรรมระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้อง การให้บริการผู้ป่วยโรคไตโดยแพทย์อายุรศาสตร์โรคไต การให้บริการผู้ป่วยทางจิตเวช โดยจิตแพทย์ เป็นต้น