ประวัติโรงพยาบาลสมเด็จ
โรงพยาบาลสมเด็จ มีพื้นที่ 16 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของสี่แยก อันเป็นจุดศูนย์กลางของอำเภอสมเด็จ ห่างออกมา 2 กิโลเมตร บนเส้นทางสายกาฬสินธุ์ - สกลนคร และห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์, ขอนแก่น และกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 40, 120 และ 550 กิโลเมตร ตามลำดับแต่ก่อนเป็นที่ดินของนายโลน เวียงนนท์ ซึ่งมีความประสงค์จะบริจาค ที่ดินให้ปลูกสร้างวัดแต่ก็ไม่ได้สร้าง ต่อมาก็จะให้โรงเรียนระดับมัธยม แต่เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำจึงยกเลิกการสร้างโรงเรียนไป ที่ดินก็กลายเป็นที่ว่างเปล่าจึงโอนที่ดินให้กับทางอำเภอเป็นที่ราชพัสดุ แล้วมีการสำรวจ ที่ดินไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาก็ทำเป็นที่ตั้งค่ายพัก อส. พอมาถึงปี พ.ศ. 2520 ได้เริ่มก่อสร้างเป็นโรงพยาบาลอำเภอ ขนาด 10 เตียง จนแล้วเสร็จในปี 2521 และได้เริ่มทำการเปิดให้บริการแก่ประชาชน เมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2522 โดยมี นายแพทย์พิชาติ ดลเฉลิมยุทธนา ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ภายใต้การดูแลของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายแพทย์พิชัยโย วรรณศิริ จนถึง พ.ศ. 2525 ก็เปลี่ยนผู้อำนวยการเป็นนายแพทย์พลรัตน์ เศรษฐกำเนิด มีบุคลากรทั้งหมด 17 คน
เมื่อมีประชาชนมารับบริการมากขึ้น จากการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเส้นทางสู่การขยายโรงพยาบาลเป็น โรงพยาบาลขนาด 30 เตียง เมื่อปี พ.ศ. 2527 และมีการสร้างตึกผู้ป่วยในและตึกผู้ป่วยนอก ในปี พ.ศ. 2529
จนมาถึงปี พ.ศ. 2536 เปลี่ยนผู้อำนวยการ เป็นนายแพทย์สมยศ เหรียญกิตติวัฒน์ และได้รับการอนุมัติให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ในปี พ.ศ. 2538 ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้รับการอนุมัติให้ขยายโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 90 เตียงโดยอาศัยศักยภาพของตนเอง ต่อมาเมื่อปี 2559 ได้มีการก่อสร้างตึกผู้ป่วยใน ขนาด 114 เตียง เพื่อรองรับการเป็นโรงพยาบาลชุมชนเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วย ( ทุติยภูมิระดับ M2 )
ปัจจุบันมี นายแพทย์สมานมิตร อัฐนาค ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จ