ประวัติและทำเนียบผู้บริหาร
"ทุกคนที่ทำงานให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จะต้องไม่ลืมว่า
โรงพยาบาลนี้ กำเนิดขึ้นจากความมุ่งปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร
ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่ง ได้รับความเอาใจใส่
รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้
โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน"
พระราชดำรัสของ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร
กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขณะดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)
ณ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
วันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๒๙
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ เดิมเป็นสถานีอนามัยเปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2504 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ หมุนเวียนมาปฏิบัติราชการที่อำเภอกุฉินารายณ์ โดยมีนายแพทย์อนามัยจังหวัดเป็นผู้รักษาการอนามัยอำเภอ ต่อมากรมการแพทย์และกรมอนามัยรวมเป็นกรมการแพทย์และอนามัย สถานีอนามัยอำเภอกุฉินารายณ์จึงเปลี่ยนเป็นศูนย์การแพทย์และอนามัยกุฉินารายณ์
เมื่อการแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้นประชาชนเห็นความสำคัญ และความจำเป็นทางสาธารณสุข ประชาชนทั่วประเทศจึงพร้อมใจกันบริจาคทุนทรัพย์จำนวนหนึ่ง โดยเสด็จพระราชกุศลถวายเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสม สวลี พระวรราชาธินัติดามาต เพื่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้นทั่วประเทศ อำเภอกุฉินารายณ์เป็นอำเภอหนึ่ง ที่กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ ก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขนาด 30 เตียง โดยได้รับบริจาคที่ดินจำนวน 25 ไร่ ที่ตำบลบัวขาว จากนายแสวง-นางบุญชอบ มณีเนตร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน ปี พุทธศักราช 2520 และในวันศุกร์ ที่ 9 เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2522 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนิน เปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์อย่างเป็นทางการ เพื่อเปิดให้บริการแก่ประชาชนในเขตรับผิดชอบและประชาชนในเขตอำเภอใกล้เคียง โดยมี คณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 50 คน
พุทธศักราช 2536 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ได้รับเงินบริจาค เพื่อสร้างตึกสกลมหาสังฆปรินายก ขึ้นเป็นแห่งที่ 9 ตามโครงการขยายโรงพยาบาลชุมชนในถิ่นทุรกันดาร ด้วยเงินบริจาคเพื่อให้การรักษาแก่พระภิกษุสงฆ์และประชาชนทั่วไปโดยรับบริจาคเงินจำนวน 10 ล้านบาทจากมูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เริ่มก่อสร้างและวางศิลาฤกษ์โดย ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายบุญพันธ์ แขวัฒนะ) และได้ดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมาจนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พุทธศักราช 2537 และได้อัญเชิญพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) องค์ที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้นประดิษฐานหน้าตึก สกลมหาสังฆปรินายก พุทธศักราช 2537 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์และทรงทำพิธีเปิดตึกสกลมหาสังฆปรินายกองค์ที่ 1
พุทธศักราช 2537 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ ร่วมกับชาวอำเภอกุฉินารายณ์ ได้ร่วมกันบริจาคสมทบทุนเพื่อก่อตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สาขากุฉินารายณ์ขึ้น โดยมีทุนเริ่มแรกเป็นเงินจำนวน 244,073.39 บาท (สองแสนสี่หมื่นสี่พันเจ็ดสิบสามบาทสามสิบเก้าสตางค์) ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาเรื่อย ๆมา จนกระทั่งปัจจุบัน มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สาขากุฉินารายณ์ มีเงินทั้งสิ้น ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2557 จำนวนเงิน 3,986,235.13 บาท (สามล้านเก้าแสนแปดหมื่นหกพันสองร้อยสามสิบห้าบาทสิบสามสตางค์)
พุทธศักราช 2538 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง
พุทธศักราช 2542 ได้นำกระบวนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลตามาตรฐาน Hospital Accreditation ของสถาบันประเมินและรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพงานทั่วทั้งองค์กร
พุทธศักราช 2547 ได้จัดซื้อที่ดินครั้งที่ 1 โดยมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สาขากุฉินารายณ์ จัดงานทอดผ้าป่าเทิดพระเกียรติฯ ในวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2547 จำนวน 2 ไร่ 3 งาน
พุทธศักราช 2548-2549 ได้จัดซื่อที่ดินครั้งที่ 2 โดยมูลนิธิโรงพยาลสมเด็จพระยุพราช สาขากุฉินารายณ์ จัดงานทอดผ้าป่าเทิดพระเกียรติฯ ในวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2548 และ วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2549 จำนวน 4 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา
พุทธศักราช 2549-2550 ขอใช้ที่สาธารณประโยชน์ซึ่งกั้นระหว่างกลางที่ดิน 2 แปลง จำนวน 1 ไร่ 45 ตารางวา รวมเนื้อที่โรงพยาบาลทั้งหมด จำนวน 33 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา
พุทธศักราช 2555 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 120 เตียง มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาอายุรกรรม สาขากุมารเวชกรรม สาขาศัลยกรรม สาขาสูติ-นรีเวชกรรม และสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว
พุทธศักราช 2559 ได้รับการยกฐานนะเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 160 เตียง (14 ก.ย. 59) และเปิดให้บริการจริง 163 เตียง
ทำเนียบผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
พุทธศักราช/ชื่อ - สกุล/ตำแหน่ง
2504 - 2505 นายแพทย์ศรี ศรีนพคุณ นายแพทย์อนามัยอำเภอ
2505 - 2507 นายแพทย์ประกิต ชีวะประเสริฐ นายแพทย์หัวหน้าสถานีอนามัย
2507 - 2508 นายแพทย์ชัยชนะ สุวรรณโชติ นายแพทย์หัวหน้าสถานีอนามัย
2508 - 2510 นายแพทย์อารยะ โตเจริญ นายแพทย์หัวหน้าสถานีอนามัย
2510 - 2510 นายแพทย์อนันต์ เมนะรุจิ นายแพทย์หัวหน้าสถานีอนามัย
2510 - 2519 นายแพทย์บรรจบ ยันตดิลก นายแพทย์ประจำศูนย์การแพทย์และอนามัย
2519 - 2521 นายแพทย์ประสงค์ โพดาพล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำภอ
2521 - 2530 นายแพทย์สมยศ เฉินบำรุง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์
2530 - 2535 นายแพทย์ชูรัตน์ คูสกุลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์
2535 - 2560 นายแพทย์นพดล เสรีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์
2560 - ปัจจุบัน นายแพทย์สิริชัย นามทรรศนีย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์