ประวัติความเป็นมาของ ร.พ. สวนสราญรมย์
ย้อนอดีตเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ และประทับแรม ณ พระตำหนักสราญรมย์ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในครั้งนั้นพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นสถานที่ที่เงียบสงบและร่มรื่นด้วยต้นไม้นานาพรรณ จึงได้พระราชทานนามควนที่ประทับแห่งนี้ว่า “สวนสราญรมย์”
ต่อมา พ.ศ. 2478 กระทรวงมหาดไทย มีโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลโรคจิต เพื่อรักษาคนเสียจริตเป็นการเฉพาะและเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร จึงมีโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลโรคจิตในภาคใต้ โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากส่วนกลางลงมาสำรวจที่ดินและสถานที่ที่เหมาะสมในการสร้างโรงพยาบาลโรคจิต และพบว่าสถานที่บนควนแห่งนี้มีความเหมาะสมที่สุด ดังจะเห็นได้จากบันทึกของ นายแพทย์แสง สุทธิพงษ์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะอนุกรรมการ ข้าราชการพลเรือน ซึ่งได้มาเยี่ยมโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 และบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “นับแต่ พ.ศ. 2478 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสรับคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทยให้มาพิจารณาหาที่ดินสำหรับสร้างโรงพยาบาลโรคจิตภาคใต้ ข้าพเจ้าได้ตรวจพิจารณาหาที่ดินตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงมาทางใต้จนถึงจังหวัดปัตตานี ได้เปรียบเทียบความสำคัญในอันที่จะได้ที่ดินอันเหมาะสมหลายแห่ง ในที่สุดด้วยการชี้แจงแนะนำของเพื่อนข้าราชการหลายท่าน ตลอดจนท่านเจ้าคุณธรรมปรีชาอุดม อดีตเจ้าคณะเจ้าหวัด สุราษฎร์ธานี และนายแพทย์สกนธ์ โสภโณ ได้ให้ข้าพเจ้าไปสำรวจดูที่ดินบนควนท่าข้าม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระราชทานชื่อควนนี้ว่า “สวนสราญรมย์” เมื่อเดินสำรวจจนทั่ว ข้าพเจ้าก็ได้ตัดสินใจรายงานผู้บังคับบัญชาว่า ที่ดินตรงนี้ดี และเหมาะสมกว่าที่อื่น”
โรงพยาบาลสวนสราญรมย์จึงได้ก่อสร้างขึ้น พ.ศ. 2479 เป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกในส่วนภูมิภาค และเป็นแห่งที่สองของประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 298 ถ.ธราธิบดี ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่ทั้งหมด 412 ไร่ 2 งาน 87 ตารางวา ได้เปิดทำการรับรักษาคนไข้จิตเวชครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2480 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ แรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลู จุลศักราช 1299 อธิกมาศ ในขณะนั้นมีอาคาร 7 หลัง ประกอบด้วย เรือนคนไข้ชาย 3 หลัง เรือนคนไข้หญิง 2 หลัง และโรงเลี้ยงอาหาร 2 หลัง และได้ชื่อว่า โรงพยาบาลโรคจิตสุราษฎร์ธานี สังกัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลโรคจิตภาคใต้และโรงพยาบาลพุนพินตามลำดับ จากนั้นจึงเปลี่ยนมาสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. 2485 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2497 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลสวนสราญรมย์อันเป็นมงคลนามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้เป็นศิริมงคล และโอนมาสังกัดสถาบันสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ. 2536 ซึ่งต่อมายกฐานะเป็นกรมสุขภาพจิต พ.ศ. 2538
ผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาล คือ นายแพทย์ขจร อ้นตระการ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2480 – 2483 และมีนายแพทย์ สกนธ์ โสภโณ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ อัตรากำลังในขณะนั้นประกอบด้วย นายแพทย์ 2 คน พยาบาล 6 คน ข้าราชการสามัญ 1 คน ข้าราชการวิสามัญ 20 คน จำนวนคนไข้ที่รับครั้งแรก 31 คน เป็นคนไข้ที่รับจากเรือนจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี 12 คน และรับโอนผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาในเขตภาคใต้จากโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา 19 คน การดูแลผู้ป่วยระยะแรกเป็นการใช้ยานอนหลับและรักษาตามอาการ เมื่ออาการดีขึ้นจึงฝึกให้คนไข้ทำงาน
ช่วงทศวรรษแรก ๆ ของการดำเนินงาน เช่น การพัฒนามักจะเน้นในด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับผู้ป่วยจิตเวชในเขตภาคใต้ทั้งหมด หอผู้ป่วย โรงเลี้ยงอาหาร อาคารที่ทำการต่าง ๆ บ้านพักข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันได้มีการเผยแพร่ให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตและจิตเวชสู่สังคมและชุมชน พัฒนาให้บริการเชิงรุกโดยหน่วยจิตเวชเคลื่อนที่ จนทำให้จำนวนของผู้ป่วยที่มารับบริการเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งมีการขยายอัตรากำลังของบุคลากรจนในที่สุดสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 1,300 เตียง
ในระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2552 โรงพยาบาลได้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีกหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านอาคารสถานที่ และภูมิทัศน์ให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบุคลากรและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ทั้งนี้เพื่อให้บริการผู้ป่วยและผู้มารับบริการได้อย่างครอบคลุมทุกช่วงวัยและทุกพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเผยแพร่ความรู้ทางด้านสุขภาพจิตแก่บุคลากรทั้งภายในและนอกโรงพยาบาล โดยเป็นแหล่งฝึกการปฏิบัติงานด้านจิตเวชแก่นักศึกษาแพทย์นักศึกษาพยาบาลจากหลายสถาบัน และบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ผลจากการพัฒนาดังกล่าวมา ทำให้มีการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ถูกต้องและต่อเนื่องจากโรงพยาบาลจนกระทั่งกลับไปสู่ชุมชน ส่งผลให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันบุคลากรได้รับการพัฒนาทั้งด้านวิชาการและทักษะในการปฏิบัติงาน จนกระทั่งสามารถพัฒนาหน่วยงานให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นได้รับการรับรองโรงพยาบาลคุณภาพในปี พ.ศ. 2550
วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552 เป็นโอกาสครบรอบ 72 ปี ของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ นับว่าเป็นโรงพยาบาลจิตเวชที่มีประวัติยาวนานแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นสิ่งที่บุคลากรโรงพยาบาล สวนสราญรมย์ภาคภูมิใจ อีกทั้งมีแนวคิดร่วมกันคือเราจะมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพบุคลากร การบริการและงานวิชาการต่าง ๆ เพื่อเป็นองค์กรที่ให้บริการด้านจิตเวชครบวงจร เป็นเลิศด้านพิบัติภัยธรรมชาติและเสริมสร้างคุณภาพเพื่อประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดี ดังคำขวัญของโรงพยาบาล “สร้างสมดุลให้ชีวิต เสริมสุขภาพจิตให้สังคม”
เอกลักษณ์โรงพยาบาลสวนสราญรมย์
ควนท่าข้ามในอดีตเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คราวเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ โดยเสด็จมาประทับแรม 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2458 และ พ.ศ. 2460 พระองค์ได้พระราชทานนามสุราษฎร์ธานี และพลับพลาที่ประทับว่า พระตำหนักสราญรมย์ อีกทั้งพระราชทานนามสวนในบริเวณนั้นว่า สวนสราญรมย์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ พสกนิกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการนำของคณะกรรมการลูกเสือจังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ในขณะนั้นได้ปรารภที่จะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2510 จึงมีการนำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมจังหวัด สภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระทรวงสาธารณสุข กรมศิลปากร และคณะรัฐมนตรีตามลำดับ
กระทั่งวันที่ 22 มกราคม 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ได้ และมีพิธีอัญเชิญพระบรมรูปประดิษฐานบนพระแท่น เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2521 ลักษณะของพระบรมรูป ทรงเครื่องแบบนายพลเสือป่ารมดำขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ปั้นโดยอาจารย์สนั่น ศิลากร กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
หลังจากพิธีอัญเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นในปี 2521 ลานพระบรมราชานุสาวรีย์จึงเป็นสถานที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการทำพิธีถวายราชสดุดีวันพระมหาธีรราชเจ้าซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน มีการเดินสวนสนามและวางพวงมาลาของเหล่าลูกเสือจากอำเภอต่าง ๆ
วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่พสกนิกรจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้จัดงานน้อมรำลึกถึงวันพระราชทานนาม “สุราษฎร์ธานี” อันมีความหมายถึงเมืองคน โดยมีการจัดพิธีวางพานพุ่มดอกกุหลาบสีแดง ซึ่งเป็นดอกไม้ที่พระองค์ทรงโปรด
ด้วยสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ มีประวัติเกือบหนึ่งศตวรรษ ที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีและบุคลากรโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ เนื่องจากเป็นพลับพลาประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ถึง 2 ครั้ง ถึงแม้วันนี้หลักฐานของประวัติศาสตร์จะเหลือเพียงฐานพลับพลาที่ประทับทว่าเป็นโบราณสถานอันทรงคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ให้อนุชนรุ่นหลังได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์แห่งแผ่นดินสยาม เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระบารมีของพระองค์ที่ได้ปกป้องคุ้มครองบุคลากรของโรงพยาบาลจึงได้จัดทำพิธีถวายราชสักการะในวันที่ 20 มีนาคม อีกวาระหนึ่ง
สวนสราญรมย์แห่งนี้ประกอบด้วยอาคารต่าง ๆ มากมาย มีหอผู้ป่วยชาย และหญิง แยกเป็นสัดส่วน มีถนนเล็ก ๆ หลายสายเชื่อมติดต่อกัน สลับกับพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด บางชนิดเป็นพันธุ์เก่าแก่และหายาก ทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการรู้สึกเหมือนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เน้นธรรมชาติมากกว่าโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีวัดตรณาราม ซึ่งอยู่คู่กับคนในชุมชนสราญรมย์ ชุมชนเล็ก ๆ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเป็นอยู่
การพัฒนายกระดับฐานะขององค์กรจากโรงพยาบาลเป็นสำนักหรือสถาบัน
การพัฒนายกระดับฐานะขององค์กรจากโรงพยาบาลเป็นสำนักหรือสถาบัน
ISO 9001:2000 และ ISO 9001:2008
การพัฒนาองค์กรให้มีความเชี่ยวชาญด้านจิตเวชครบวงจรในระดับตติยภูมิ และมีความเป็นเลิศด้านพิบัติภัยธรรมชาติ
การพัฒนาองค์กรเรื่องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ
เครือข่ายสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคประชาชน และสังคม
โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ ให้สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ของกรมสุขภาพจิต