โรงพยาบาลสิรินธร ได้ดำเนินการในการให้บริการประชาชนด้วยดีมาตลอดตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2545 และยังมีผลการปฏิบัติงานในหลายๆ ด้าน จนปัจจุบันได้มีการขยายการให้บริการเป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิระดับสูง ขนาด 356 เตียง มีพื้นที่ 93 ไร่ 1 งาน และได้ผ่านการต่อ อายุการรับรองกระบวนการคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital Re-accreditation) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560 และได้ผ่านการตรวจสอบประเมินตามมาตรฐาน World Federation for Medical Education (WFME)เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ความเป็นมา "โรงพยาบาลสิรินธร"
เมื่อครั้งอดีตที่ยังเป็น "อำเภอลาดกระบัง" พื้นที่แห่งนี้เป็นท้องทุ่งนาที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีอาณาเขตกว้างขวางตั้งอยู่เขตชานเมืองกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งตาม “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 (ปี พ.ศ. 2510 – 2514) ได้มีการมุ่งเน้นพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งให้กว้างขวางมีความสะดวกและปลอดภัย และให้มีการจัดตั้งพาณิชย์นาวีแห่งชาติเพื่อก่อสร้างสนามบินพาณิชย์ระหว่างประเทศแห่งที่ 2 ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคและนโยบายการพัฒนาด้านสาธารณสุขที่ให้มีการขยายการบริการให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในพื้นที่เขตชนบทห่างไกล ขยายการบำบัดเฉพาะโรคระบาดและโรคที่เป็นอันตรายให้กับประชาชน
จากนโยบายด้านสาธารณสุขดังกล่าว และด้วยลักษณะพื้นที่เขตลาดกระบังที่กว้างใหญ่เป็นท้องทุ่งที่เขียวขจี เปรียบเสมือนแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของ “ชาวกรุงเทพมหานคร” ซึ่งการเป็นพื้นที่ห่างไกลทำให้การเข้าถึงระบบบริการของรัฐในทุกๆ เรื่องเป็นไปได้ยากลำบาก
"...ช่วงนั้นเขตลาดกระบังเหมือนกับถูกเนรเทศพื้นดินถิ่นทุรกันดารไปทางไหนก็มีแต่ป่าทั้งนั้น ประชาชนที่อาศัยอยู่แถวนั้นไม่มีสถานบริการสาธารณสุขที่ทันสมัย มีอยู่ก็เพียงสองแห่งคือศูนย์บริการสาธารณสุขลาดกระบังและศูนย์บริการสาธารณสุขกันตารัติอุทิศ ซึ่งเป็นเพียงสถานที่เล็กๆ พอเยียวยาได้ แต่ถ้าหากประชาชนเดือดร้อน เป็นป่วยหนัก งูกัด ถูกทำร้ายร่างกาย ก็จะไม่มีที่จะรักษา ขนาดรถขยะยังต้องให้บรรทุกคนในยามค่ำคืนเพื่อไปโรงพยาบาลชั้นใน ผมก็ได้มานั่งคิดว่า เราเองก็มีหมออยู่คนเดียว เครื่องมือก็ไม่ทันสมัยน่าจะมีโรงพยาบาลแถบนี้ ซึ่งในรัศมี 20 กิโลเมตร นั้นไม่มีโรงพยาบาลเลย..." นายศิริ เปรมปรีดิ์
ด้วยมุมมองที่กว้างไกลของหัวหน้าเขตลาดกระบังที่ชื่อ นายศิริ เปรมปรีดิ์ ที่ได้ดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2518 – 2521 ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาด้านสาธารณสุขในพื้นที่ของประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน เมื่อมีการเจ็บป่วยขึ้นมาและจากการชุกชุมของงูเห่าและงูจงอางในพื้นที่เมื่อชาวบ้านโดนงูกัด สถานพยาบาลที่เป็นศูนย์บริการสาธารณสุขลาดกระบังและศูนย์บริการสาธารณสุขกันตารัติอุทิศ มีศักยภาพไม่เพียงพอที่จะรักษาพยาบาลได้ ต้องส่งผู้ป่วยเข้าไปรักษาในตัวเมือง ด้วยความห่างไกล ระยะทางไกล การเดินทางไม่สะดวกจึงทำให้ชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บต้องจบชีวิตเป็นจำนวนมาก
คุณหญิงหรั่ง กันตารัติ และลูกหลานตระกูลกันตารัติ เป็นชื่อที่ชาวบ้านในพื้นที่นี้จะต้องจดจำอย่างขึ้นใจที่ได้ยกที่ดิน 84 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา และนายรงค์ชัย ฉายาวสันต์ กับนายจวง เที่ยงธีรธรรมที่ยกที่ดินบางส่วนด้านหน้าเป็นทางเข้าออก จากถนนอ่อนนุชเข้าไปยังที่ดินของคุณหญิงหรั่ง ในเขตลาดกระบัง ซึ่งท่านศิริ เปรมปรีดิ์ ได้นำเรื่องราวที่เกี่ยวกับการได้รับการยกที่ดินให้ทางราชการนำเสนอต่อนายชะลอ ธรรมศิริ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคุณหญิงนันทกา สุประภาตะนันท์ ปลัดกรุงเทพมหานครและได้รับความเห็นชอบจากคณะบริหารของกรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่15 กรกฎาคม 2520 พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าต่างปลื้มปิติยินดีทั่วหล้าเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวโรกาสนี้ท่านคุณหญิงหรั่ง กันตารัติ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินแด่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” จากนั้น พระองค์ได้พระราชทานที่ดินให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลโดยในระยะแรกนี้ให้สร้างเป็น “ศูนย์บริการสาธารณสุขขนาดใหญ่” ซึ่งปัจจุบันคือ “บ้านพิชิตใจ” ที่ใช้เป็นศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติด
ระยะเวลาผ่านไป 9 ปี การใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวยังไม่ก่อประโยชน์เกิดขึ้น ทำให้ “คุณประไพ กันตารัติ” ซึ่งเป็นลูกหลานของท่านคุณหญิงหรั่ง ได้ทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ของผู้บริจาค เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2529ถึงท่านพลตรีจำลอง ศรีเมือ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ขณะนั้น
จงกระทั่งปี 2534 การใช้ประโยชน์จากที่ดินตามเจตนารมณ์ ได้ก่อเป็นรูปร่างขึ้นมา โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ศ.ดร.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ที่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลขึ้น
วันที่ 4 มิถุนายน 2543
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชื่อโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานครว่า
"โรงพยาบาลสิรินธร"
ความภาคภูมิใจในเจตนารมณ์ของท่านคุณหญิงหรั่ง กันตารัติ และของเราชาวสิรินธรรวมทั้งประชาชนกรุงเทพฝั่งตะวันออกเกิดขึ้น เมื่อทันทีที่โรงพยาบาลสิรินธรได้เปิดบริการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โดยผู้นำที่มุ่งมั่นทุ่มเทในการบริหาร นายแพทย์พิชญา นาควัชระ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิรินธรคนแรก (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองปลัดกรุงเทพมหานคร) ด้วยศักยภาพโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง ปัจจุบันมีขนาด 356 เตียง เชื่อมโยงอนาคตด้วยการเป็นโรงพยาบาลขนาด 800 เตียง ที่จะบูรณาการการดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจรอย่างสมบูรณ์แบบในการรักษาพยาบาล ป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ และฟื้นฟูสมรรถภาพ ครอบคลุมมิติด้านร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ และจิตวิญญาณ
วันที่ 14 พฤษภาคม 2550
เป็นวันที่เราชาวสิรินธรและผู้รับบริการต่างปราบปลื้มเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์มาทรงเปิดโรงพยาบาลสิรินธรอย่างเป็นทางการ