ประวัติโรงพยาบาลหนองคาย
พ.ศ. 2475
85 ปี ที่ผ่านมา
กรมสาธารณสุขยังคงสังกัดในกระทรวงมหาดไทยรัฐบาลมีแนวนโยบายว่าจะสร้าง โรงพยาบาลทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้มอบให้กรมสาธารณสุขสร้างโรงพยาบาลจังหวัดชายแดนขึ้น คือ จังหวัดอุบลราชธานี หนองคาย และนครพนม บุคคลสำคัญที่มีบทบาททำให้โรงพยาบาลหนองคายมีการก่อสร้างได้ก่อนเป็นโรงพยาบาลแรก คือ พระปทุมเทวาภิบาลข้าหลวงประจำจังหวัดหนองคายในขณะนั้น ท่านผู้นี้เป็นผู้วิ่งเต้นจัดหาเงินทุนในการก่อสร้าง ซึ่งได้รับงบประมาณมาจาก 3 ทาง คือ
1. เงินส่งเสริมเทศบาลประเภทอุดหนุนท้องถิ่นในการสาธารณสุข
2. เงินกองสลากสภากาชาดไทย
3. เงิบงบประมาณแผ่นดิน รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 100,200 บาท
พ.ศ. 2476
เริ่มก่อสร้าง
พ.ศ. 2478
สร้างเสร็จเปิดทำการเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2478 เราจึงถือวันที่ 19 มกราคม ของทุกปีเป็นวันก่อตั้งโรงพยาบาลมีการทำบุญ เลี้ยงพระเป็นประเพณีประจำปีตลอดมา นับเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ที่สร้างขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (แห่งแรกคือโรงพยาบาลนครราชสีมา ) พระปทุมเทวาภิบาลได้มอบภาพขนาดใหญ่ของท่านไว้ให้แก่โรงพยาบาล 1 ภาพ ข้างล่างภาพบันทึกข้อความไว้ดังนี้ “ขอมอบภาพนี้ให้แก่ โรงพยาบาลหนองคาย ให้ประชาชนชาวจังหวัดหนองคายทราบว่า กว่าจะได้โรงพยาบาลขึ้นมา เจ้าของภาพนี้ได้รับความชอกช้ำใจและลำบากกาย เป็นอย่างยิ่ง ”
พ.ศ. 2478 - ปัจจุบัน
ปัจจุบันโรงพยาบาลหนองคายเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 349 เตียง มีเนื้อที่ 30 ไร่เศษ ตั้งอยู่เลขที 158 ถนนมีชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ทิศใต้ติดถนนมีชัย ฟากฝั่งตรงกันข้ามเป็นที่ตั้งสถานีตำรวจภูธร ทิศเหนือของพื้นที่ทอดยาวตามขนานลำน้ำโขง ซึ่งอยู่ห่าง จากฝั่งโขง ประมาณ 100 เมตร จังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดชายแดน ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีน้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดนลักษณะพื้นที่เดิมเป็นลุ่มน้ำท่วมถึงในหน้าน้ำ มีทางน้ำธรรมชาติเป็นลำห้วยเล็กๆไหลผาดผ่านจากด้านทิศตะวันออกไหลลงสู่แม่น้ำโขง บริเวณข้างวัดหายโศก ชื่อ “ ห้วยหายโศก ” ซึ่งมีต้นน้ำมาจากหนองกอมเกาะไหลสู่หนองถิ่น หนองกลาง หนองตูม คือ บริเวณหนองน้ำกว้างใหญ่รอบสถานีรถไฟหนองคาย โรงพยาบาลหนองคายสร้างในพื้นที่ราชพัสดุ เดิมเป็นเรือนจำ เมื่อดำริจะสร้างเป็นโรงพยาบาลได้ซื้อที่นาราษฎรเพิ่มเติม มีการปรับถมพื้นที่ให้สูงขึ้น จากระดับน้ำท่วมก่อนสร้าง โดยขุดลอกดินจากหนองน้ำหน้าโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากขึ้นมาถมที่ การขุดถมดินส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือ จากนักโทษ (จากคำบอกเล่าของนายมุข จันทรนุรักษ์ ผู้ร่วมทำงานก่อสร้างโรงพยาบาลและต่อมาได้เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจนครบเกษียณ)