ประวัติโรงพยาบาลหนองหญ้าไซ
โรงพยาบาลหนองหญ้าไซ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลหนองหญ้าไซ อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี (ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 503 หมู่ 13 ตำบลหนองหญ้าไซ) เดิมได้รับงบประมาณตั้งเป็นโรงพยาบาลสาขา แต่เนื่องจากกิ่งอำเภอหนองหญ้าไซ เป็นพื้นที่ชนบทยากจนและห่างไกล ประชาชนส่วนใหญ่ มีอาชีพเกษตรกรรมผลผลิตและรายได้ไม่แน่นอน ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจยากจน เมื่อเจ็บป่วยจะต้องได้รับการรักษาในที่ห่างไกล เช่น โรงพยาบาลสามชุก ด่านช้าง ดอนเจดีย์ หรือเดิมบางนางบวช สิ้นเปลืองทั้งเวลาและทรัพย์สินอันก่อให้เกิดความลำบากอย่างมากทั้งนี้เนื่องจาก ต้องเดินทางโดยใช้เส้นทางที่เป็นดินลูกรังจากหมู่บ้านถึงโรงพยาบาลเหล่านั้น ขณะนั้นรถยนต์โดยสารประจำทางก็มีน้อย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรีขณะนั้นคือ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ เห็นว่าการดำเนินงานในรูปแบบโรงพยาบาลสาขาไม่สามารถให้บริการประชาชนได้เต็มที่ เพราะไม่มีแพทย์ประจำ เจ้าหน้าที่มีเพียง 5 คนกรณีที่ประชาชนเจ็บป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างปัจจุบันทันด่วน โดยเฉพาะเวลากลางคืนจะยิ่งประสบอุปสรรคมากขึ้น แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาล 10 เตียง จะมีกรอบอัตรากำลัง และการสนับสนุนงบประมาณดีกว่า เพื่อให้ประชาชนกิ่งอำเภอหนองหญ้าไซ ได้รับประโยชน์จากการตรวจรักษาอย่างแท้จริง จึงได้ดำริที่จะจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียงแทน และเริ่มดำเนินการหาเงินบริจาคนับแต่นั้นมา
โดยได้รับการบริจาคที่ดิน จำนวน 25 ไร่จากผู้ใหญ่ชั่ง ชาญวงษ์ และจากการซื้อสมทบด้านหน้าติดถนนอีก 9 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 34 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา โดยนายสมบูรณ์ นางพะยอม ธิกุลวงษ์ บริจาคซื้อเป็นเงิน 233,750 บาท จากการสมทบของข้าราชการสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี และการทอดผ้าป่าสามัคคีโดยการนำของนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ บริจาคซื้อสมทบอีก 233,750 บาท รวมเป็นเงิน 467,500 บาท
ต่อมา คุณลุงทองอยู่ และคุณป้าสำเนียง ทิพยานนท์ ได้บริจาคสร้างอาคารผู้ป่วยขนาด 10 เตียง เป็นเงิน 3,200,000 บาท โดยทำการเซ็นสัญญาก่อสร้างโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2531 ตามแบบก่อสร้างเลขที่ 5318 วางศิลากฤษ์สร้างอาคารโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2531 เวลา 10.00 น. โดยคุณหญิงแจ่มใส ศิลปะอาชา ภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยนั้นเป็นประธาน ระหว่างการก่อสร้าง ได้เปิดทำการตรวจรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ วันที่ 15 มิถุนายน 2531 โดยใช้พื้นที่ชั้นล่างของสถานีอนามัย ตำบลหนองหญ้าไซ (สำนักงานสาธารณสุขอำเภอหนองหญ้าไซในปัจจุบัน) เป็นที่ทำการชั่วคราว ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรีได้สนับสนุนเวชภัณฑ์ยาเป็นเงิน 50,000 บาท ไม่มีค่าวัสดุครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ใช้เงินบำรุงที่ได้จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลมาจัดซื้อเพื่อเป็นการบริการประชาชนไปก่อน
ช่วงการก่อสร้างก็ได้จัดหาเงินบริจาคเพื่อซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่ยังขาดอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ข้าราชการพ่อค้า ประชาชนชาวกิ่งอำเภอหนองหญ้าไซ และอำเภอใกล้เคียงจึงได้ร่วมบริจาคสมทบ โดยการทอดผ้าป่าสามัคคี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2531 ได้เงินประมาณ 400,000 บาท เมื่อการก่อสร้างได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ได้รับมอบงานงวดสุดท้ายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2532
ก็ได้ย้ายมาเปิดทำการรักษาพยาบาลที่อาคารโรงพยาบาลหลังใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532 และเริ่มรับผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2532
ประวัติโดยสังเขปของโรงพยาบาลหนองหญ้าไซ
ตั้งอยู่เลขที่ 503 หมู่ 13 ตำบลหนองหญ้าไซ อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี 72240
วันที่ 1 มิถุนายน 2526 อนุมัติจัดตั้งกิ่งอำเภอหนองหญ้าไซ
วันที่ 1 มิถุนายน 2530 อนุมัติจัดตั้งโรงพยาบาลหนองหญ้าไซ
วันที่ 8 เมษายน 2531 เซ็นสัญญาก่อสร้างโรงพยาบาลตามแบบเลขที่ 5318
วันที่ 9 เมษายน 2531 เริ่มให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโดยใช้พื้นที่ชั้นล่างของสถานีอนามัยตำบลหนองหญ้าไซ
วันที่ 15 กรกฎาคม 2531 ยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง
วันที่ 25 ธันวาคม 2531 จัดทอดผ้าป่าสามัคคีสมทบซื้ออุปกรณ์การแพทย์
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532 เปิดดำเนินการรักษาผู้ป่วย ณ อาคาร “ทองอยู่-สำเนียง ทิพยานนท์”
วันที่ 22 พฤษภาคม 2532 ยกฐานะกิ่งอำเภอหนองหญ้าไซ เป็นอำเภอหนองหญ้าไซ อันดับที่ 10 ของจังหวัดสุพรรณบุรี
วันที่ 16 พฤษภาคม 2532 พิธีเปิด รพ.หนองหญ้าไซ โดยฯพณฯ นายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์ รมว.การกระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 28 สิงหาคม 2541 ยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง
นับตั้งแต่เปิดบริการประชาชนมาจนถึงปัจจุบันขณะนี้ โรงพยาบาลหนองหญ้าไซได้มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาแล้ว 4 ท่านคือ
1. นายแพทย์ พรณรงค์ ศรีม่วง 15 มิถุนายน 2531 - 31 พฤษภาคม 2534
2. นายแพทย์ นิคม มีอินทร์ 1 มิถุนายน 2534 - 26 พฤษภาคม 2536
3. นายแพทย์ คำนวน พันธุ์ศรี 27 พฤษภาคม 2536 – 4 มิถุนายน 2546
4. แพทย์หญิง สมพิศ จำปาเงิน 4 มิถุนายน 2546 - 4 ธันวาคม 2557
5. นายแพทย์ อิศวร ดวงจินดา 4 ธันวาคม 2557 - ถึงปัจจุบัน