ประวัติโรงพยาบาลเขาสุกิม
โรงพยาบาลเขาสุกิม ก่อตั้งขึ้นโดยมโนปณิธาน ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิญาณเถระ (พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย) ประธานสงฆ์วัดเขาสุกิม ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันของบรรดาศิษยานุศิษย์ผู้มีความเคารพศรัทธาในพระเดชพรคุณท่าน ได้เริ่มดำเนินการตามบัญชาของพระเดชพระคุณ ในราวปีพุทธศักราช 2520
ซึ่งขณะนั้น พระเดชพระคุณท่านได้จัดซื้อที่ดินด้านทิศเหนือของวัดเขาสุกิม จำนวน 16 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา เพื่อสร้างโรงพยาบาลเขาสุกิมนี้ ซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่ได้จากการบริจาคของประชาชนผู้เคารพศรัทธาในพระเดชพระคุณท่านจากสารทิศต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ได้ทำการวางศิลาฤกษ์ในวันคล้ายวันเกิดพระเดชพระคุณท่านในปีพุทธศักราช 2521 ซึ่งมีพระเดชพระคุณท่านเป็นนในพิธีฝ่ายสงฆ์ และมี พล.ต.ต.สมโภชน์วิไลจิตต์ ผบก.ตชด. ภาค 1 เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีประชาชนต่างๆ มาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
จากนั้นก็ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารของโรงพยาบาลมาโดยลำดับ จนแล้วเสร็จในปี พุทธศักราช 2524 ซึ่งในขณะนั้นนายแพทย์ปัญ - คุณชลูด ส่งสัมพันธ์ เจ้าของโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา กรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีส่วนอย่างมากในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานและบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการนี้ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ทั้งยังได้บริจาควัสดุ ครุภัณฑ์สำนักงานเครื่องมือแพทย์และอื่นๆ อีกส่วนหนึ่งด้วย
ดังนั้น พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิญาณถระ (พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย จึงได้มอบโรงพยาบาลเขาสุกิมให้แก่กระทรวงสารธารณสุข โดย ฯพณฯอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศจ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้วเป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2524
โรงพยาบาลเขาสุกิมเปิดดำเนินการให้บริการ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2524 ในขณะนั้นสถานบริการแห่งนี้มีฐานะเป็นเพียง "สถานีอนามัยรูปพิเศษ" เนื่องจากมีการให้บริการทั้งผู้ป่วยนอกและรับผู้ป่วยไว้รักษาภายใน โดยใช้ชื่อ "โรงพยาบาลเขาสุกิม" มีข้าราชการประจำ 3 คน ได้รับความอนุเคราะห์จากแพทย์ ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณท่าน หมุนเวียนมาช่วยในการตรวจรักษาเป็นประจำ
ปี พ.ศ.2525 มีผู้มารับบริการเกินกว่า 5,000 รายต่อปี จึงได้รับการยกฐานะจากสถานีอนามัยรูปพิเศษเป็น "ศูนย์การแพทย์และอนามัย" มีข้าราชการประจำ 4 คน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี ได้จัดแพทย์หมุนเวียนมาทำการตรวจรักษาเป็นประจำ
ปี พ.ศ. 2531 มีผู้รับบริการเกินกว่า 10,000 รายต่อปี จึงได้รับยกฐานะจากศูนย์การแพทย์และอนามัยเป็น "โรงพยาบาลชุมชน ขนาด 10 เตียง" และในเดือน เมษายน พ.ศ. 2531 ได้มีแพทย์มาประจำเป็นครั้งแรก คือ นายแพทย์ปิยะพงษ์ เพิ่มลาภ ปัจจุบันยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง