ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลแม่ทะ
โรงพยาบาลแม่ทะ เดิมเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง เริ่มเปิดดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2527 โดยสร้างบนพื้นที่ จำนวน 33 ไร่ 2 งาน (ปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่ทะ) มีผู้อำนวยการคือ นายสมบูรณ์ ชุ่มวิจารณ์ (4 มิถุนายน 2527 - 2559)ต่อมาเนื่องจากมีประชาชนนิยมมาใช้บริการ มากขึ้น จึงทำให้สถานที่เดิมคับแคบและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้มารับบริการ ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ยกฐานะของโรงพยาบาลแม่ทะ จากโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง เป็น 30 เตียง โดยได้จัดงบประมาณปี 2539 เพื่อจัดสร้างโรงพยาบาลแม่ทะ ในพื้นที่ 33 ไร่ 2 งาน และได้จัดสร้างแล้วเสร็จปี 2540โรงพยาบาลแม่ทะแห่งใหม่ได้เริ่มให้บริการแก่ประชาชนในอำเภอแม่ทะและอำเภอใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2540 และได้พัฒนาขีดความสามารถให้เพิ่มมากขึ้นพร้อมกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล โดยจัดให้มีห้องพิเศษที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน จำนวนทั้งหมด 6 ห้อง และได้จัดสร้างสวนหย่อม บริเวณรอบตึกผู้ป่วยนอก และ ตึกผู้ป่วยใน เพื่อเป็นที่พักผ่อน ของผู้ที่มารับบริการ และผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาล ในส่วนของความสะอาดของอาคารสถานที่ ได้จัดให้มีการใช้หลัก 5 ส. หลัก คือ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย มาเป็นกลวิธีในการจัดการด้านความสะอาดเรียบร้อยของพื้นที่ทุกส่วนในโรงพยาบาล นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังมีโครงการพัฒนาระบบบริการด้านหน้า โดยเน้นการบริการที่เป็นกันเอง พูดจาไพเราะ และมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อต่อผู้มารับบริการทุกคน นอกจากนี้ยังให้บริการด้าน ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพ และให้ความรู้ด้านสุขภาพโดยการให้สุขศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ และสามารถดูแลสุขภาพตนเอง ให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ และอุบัติเหตุอุบัติภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้าตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
ตึกสำหรับบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย
1. ตึกธรรมรักษา (ตึกผู้ป่วยนอก) ใช้ตรวจรักษาโรคทั่วไปเป็นด้านหน้าสำหรับผู้มารับบริการ
2. ตึกสังฆประชาสรรค์ (ตึกสงฆ์) สำหรับคลินิกผู้สูงอายุ,บำบัดยาเสพติด
3. ตึกบ้านร่มเย็น สำหรับผู้ป่วยนอน
4. ตึกพุทธรักษา สำหรับงานบริการต่าง ๆ เช่น ทันตกรรม ,ส่งเสริมสุขภาพ,สุขาภิบาลและป้องกันโรค ฯลฯ
5. ตึกตรีรตนาราม สำหรับบริการผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้