ประวัติและความเป็นมาของโรงพยาบาลชุมชนอำเภอโพธิ์ทอง
จากอดีต โรงพยาบาลโพธิ์ทองเป็นสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง ตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลอ่างแก้ว อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นที่ดินของวัดศีลขันและการบริจาคในพื้นที่จำนวน 2 ไร่ 62 ตารางเมตร โดยการอุปถัมภ์จากพระเทพสังวรญาณ
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2518 ได้รับการยกฐานะเป็นศูนย์การแพทย์และการอนามัย จากนั้นวันที่ 9 ตุลาคม 2519 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเปิดโรงพยาบาลโพธิ์ทองเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 10 เตียง แต่เนื่องจากอาคารและพื้นที่ ของโรงพยาบาลมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถขยายเพื่อรับบริการกับจำนวนผู้มารอรับบริการที่เพิ่มขึ้นได้
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพธิ์ทองได้บุกเบิกพื้นที่ ระดมเงินทุนติดต่อเรื่องโครงสร้างอาคาร เริ่มก่อสร้างเมื่อ พฤศจิกายน 2534 แล้วเสร็จเป็นอาคารผู้ป่วยนอก เมษายน 2535 ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย โรงพยาบาลโพธิ์ทองหลังใหม่ได้สำเร็จสมดังใจ โรงพยาบาลโพธิ์ทองได้ย้ายที่ตั้งและอาคารหลังใหม่เป็นอาคาร 2 ชั้น และตึกผู้ป่วยในขนาด 30 เตียง อยู่บนพื้นที่ 36 ไร่ 70 ตารางวา ณ 82 หมู่ 4 ตำบลบางพลับ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง และเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2535 เป็นต้นมา
ปัจจุบันโรงพยาบาลโพธิ์ทองเป็นสถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้รักษาภายในจำนวน 60 เตียง ประจำชุมชนระดับอำเภอ ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นสถานีอนามัยประจำตำบลที่ตั้งของโรงพยาบาล หรือในเขตพื้นที่บริเวณรอบที่ตั้งโรงพยาบาล ซึ่งครอบคลุมประชากรประมาณหนึ่งแสนคน เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง มีผู้อำนวยการเป็นหัวหน้าหน่วยงาน
หน้าที่และความรับผิดชอบของโรงพยาบาลชุมชนอำเภอโพธิ์ทอง
1.ทำการตรวจวินิจฉัยและให้การบำบัดรักษาผู้ป่วย ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล
2.จัดทำแผนงานโครงการและดำเนินการทาง สาธารณสุขแก่ประชาชน เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ งานสุขาภิบาลและอนามัย และสิ่งแวดล้อม งานทันตสาธารณสุข งานสุขภาพจิต
3.การจัดบริการรักษาพยาบาลแบบหน่วยเคลื่อนที่ การจัดและควบคุมระบบส่งต่อผู้ป่วย และการรักษาพยาบาลทางวิทยุในฐานะเป็นเครือข่ายย่อย
4.นิเทศ ฝึกอบรม และพัฒนาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบลและอำเภอ ให้มีความรู้ความสามารถด้านการให้บริการทำการรักษาพยาบาลตามนโยบายแผนงานและ โครงการต่างๆ เช่น การจัดการบริการสาธารณสุขแบบผสมผสาน การสาธารณสุขมูลฐาน โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการรณรงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นต้น
5.ศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำสถิติข้อมูล เกี่ยวกับงานสาธารณสุข และจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน ปัญหา และแนวทางแก้ปัญหาเสนอหน่วยเหนือตามลำดับ
6.ประสานงานกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงาน สาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานสาธารณาสุขและการแพทย์ของโรงพยาบาลชุมชนได้ผลตามวัตถุ ประสงค์และเป้าหมายตามที่กำหนดไว้