ประวัติโรงพยาบาลไชยา
เมื่อปี พ.ศ. 2500 กระทรวงสาธารณสุขได้ก่อสร้าง สุขศาลา สภาพเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงในที่ดินราชพัสดุ (ที่ตั้งโรงพยาบาลไชยาปัจจุบัน)
เมื่อปี พ.ศ. 2508 ได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินการสร้างสถานีอนามัยชั้น 1 (ศูนย์การแพทย์และอนามัย) โดยดำเนินการสร้างในที่ดินของที่ว่าการอำเภอไชยา เป็นอาคาร ตึกผู้ป่วยนอกและหอผู้ป่วยในอาคารเดียวกัน (ปัจจุบันเป็นที่ทำการสำนักงานสาธารณสุขอำเภอไชยา) ซึ่งต่อมาได้ปรับระดับเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง
พ.ศ. 2524 ได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดสร้างโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง โดยสร้างในที่เดิมที่เคยเป็นสุขศาลามาก่อน คือที่โรงพยาบาลไขยาหลังปัจจุบัน ดำเนินการสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2527 และเปิดให้บริการผู้ป่วยเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2527
พ.ศ. 2542 ได้ก่อสร้างอาคารสกลมหาสังฆปริณายกตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีพระดำริให้จัดสร้างอาคารสำหรับสงฆ์อาพาธ ในโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ รวม 19 แห่ง ทางมูลนิธิได้คัดเลือกอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ ที่มีความเหมาะสมเป็นศูนย์กลางทางศาสนา สมควรก่อสร้างอาคารสงฆ์อาพาธให้ประชาชนและพระภิกษุสงฆ์เดินทางไปรับบริการได้อย่างสะดวก
ในการจัดสร้างครั้งนี้ การก่อสร้างอาคาร สกลมหาสังฆปริณายก ตามโครงสร้างเป็นอาคาร ค.ส.ล 3 ชั้นงบประมาณในการก่อสร้างตึกทั้งหมด จากสมเด็จพระสังฆราชได้ประทานเงินให้ 20 ล้านบาทและสำนักงานมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย 5 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นอุปกรณ์ทางการแพทย์ การตกแต่งภายในอาคาร โรงพยาบาลไชยาเป็นผู้จัดเตรียม โดยที่มาของเงินทุนบริจาคในการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างได้จาก เงินทอดผ้าป่าสามัคคี และประชาชนร่วมกันบริจาค
พ.ศ.2562 โรงพยาบาลไชยาได้เปิดใช้งานตึกผู้ป่วยนอกหลังใหม่ ในวันที่ 26 ตุลาคม 2562 เพื่อรองรับจำนวนผู้บริการในอำเภอไชยาและอำเภอใกล้เคียงที่เพิ่มมากขึ้น เป็นตึก 3 ชั้น ซึ่งประกอบไปด้วย งานผู้ป่วยนอก งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน งานทันตกรรม ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ห้องไอซียู งานประกันสุขภาพฯ และเภสัชกรรม