พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวถึงมาตรการรองรับภายหลังการยกเลิกสัญญากับ 9 รพ.เอกชน ว่า สปสช.ได้เตรียมการ 1) จัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิอื่นๆ เพื่อรองรับดูแล ได้แก่ คลินิกเวชกรรม คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา ฯลฯ 2) จัดหาโรงพยาบาลรับส่งต่อ พร้อมกับประสานและจัดหน่วยบริการแห่งใหม่เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีนัดรักษาหรือติดตามอาการ 3) จัดหาระบบบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้บริการ อาทิ ระบบบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อเพิ่มทางเลือกกับให้กับประชาชน
กรณีผู้ป่วยใน ผู้ป่วยรักษาต่อเนื่อง
พญ.ลลิตยา กล่าวถึงผู้ป่วยที่ใช้สิทธิการรักษากับ รพ.เอกชนทั้ง 9 แห่ง ในกรณีต่างๆ เอาไว้ดังนี้
กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ใช้สิทธิรักษาเหมือนเดิมทุกประการ
กรณีผู้ป่วยใน ที่ยังนอนอยู่ รพ. รักษาต่อไปได้ จนกว่าจะปลอดภัย
กรณีผู้ป่วยกลุ่มเร่งด่วน ผู้ป่วยนัดรักษาต่อเนื่อง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ที่มีนัดติดตามอาการ ผู้ป่วยที่รอการผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด และกรณีหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด ฯลฯ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ สปสช.ได้ประสานและจัดหาหน่วยบริการเพื่อให้การรักษาต่อเนื่องแล้ว เบื้องต้นขอให้ท่านติดต่อขอรับเวชระเบียน (ข้อมูลและประวัติการรักษา) กับโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ในขณะนี้ โดย สปสช.ได้ทำหนังสือถึง รพ. ทั้ง 9 แห่ง เพื่อขอข้อมูลผู้ป่วยพร้อมประวัติการรักษาด้วยเช่นกัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประสานส่งต่อผู้ป่วย อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยรายใดไม่ได้รับการติดต่อจาก สปสช. ขอให้ท่านโทรมายังสายด่วน สปสช. 1330 กด 6 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป
กรณีผู้ป่วยไต ที่มีนัดฟอกไตกับทั้ง 9 รพ.เอกชน ยังคงรับบริการได้ตามนัดเหมือนเดิม เนื่องจากการยกเลิกสัญญาไม่ได้รวมถึงการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
กรณีผู้ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยรักษาต่อเนื่อง
ซึ่งแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ตามการเลือกเพื่อเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิโดยตรง คือ
1. กลุ่มที่เลือก 9 รพ.เอกชน โดยตรง และ
2. กลุ่มที่เลือก คลินิกเอกชนหรือศูนย์บริการสาธารณสุข ที่เป็นเครือข่ายกับ 9 รพ.เอกชน
ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบมีคำแนะนำดังนี้
1. กลุ่มที่เลือก 9 รพ.เอกชน โดยตรง
- เปลี่ยนหน่วยบริการแห่งใหม่ ที่อยู่ในเขตพื้นที่ ทดแทน ทั้ง 9 รพ.เดิม
- ในกรณีที่ไม่มีหน่วยบริการในเขตพื้นที่ให้เลือก ก็สามารถรอได้
เพราะขณะนี้
"สปสช.อยู่ระหว่างการเร่งจัดหาหน่วยบริการเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป หากเกิดภาวะเจ็บป่วยท่านก็ยังใช้สิทธิบัตรทองรักษาได้ โดยเข้ารับบริการที่ทุกหน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่งในระบบบัตรทอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย"
กล่าวคือ หากพ้นวันที่ 1 ตุลาคม 65 ไปแล้ว แต่ยังไม่เลือกหน่วยบริการใดไว้ จะถือว่าเป็น "สิทธิว่าง" ซึ่งประโยชน์คือ "จะสามารถเข้ารับบริการได้ที่ทุกหน่วยบริการ" นั่นเอง
2. กลุ่มที่เลือก คลินิกเอกชน/ศูนย์บริการสาธารณสุข ที่เป็นเครือข่ายกับ 9 รพ.เอกชน
กรณีนี้ หากชเจ็บป่วย สามารถเข้ารับการรักษาได้ตาม คลินิกเอกชน/ศูนย์บริการสาธารณสุข เบื้องต้นตามสิทธิได้เช่นเดิม กรณีที่จะต้องถูกส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาลอื่น สปสช.ได้ประสานงานให้ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่ได้จัดหาเพิ่มให้