และสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์หมายถึงการมีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 20% ขึ้นไป
แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศแรกที่เจอปัญหานี้หรอก ประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วเจอปัญหานี้กันมานานมากแล้ว เพราะเขามีวิถีชีวิตและการดูแลสุขภาพที่ดีกว่าบ้านเรามาก อายุเฉลี่ยสูงขึ้นมาก แต่ปัญหาการดูแลสุขภาพก็ตามมา อย่างเช่นประเทศแคนาดาที่มีอายุเฉลี่ย 82 ปีซึ่งมากเป็นอันดับ 12 ของโลก ฟังดูแล้วดีคนอายุยืน แต่มีงานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า ในช่วง 10 ปีสุดท้ายของผู้สูงอายุในแคนาดาไม่ได้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขเลย แต่เป็นช่วง 10 ปีที่เจ็บป่วยตลอดเวลา วนเวียนเข้าออกโรงพยาบาลจนเทคโนโลยีทางการแพทย์ยื้อไว้ไม่อยู่แล้วถึงจากไปอย่างถาวร กลายเป็นการทนทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน อดทนไปก็ไม่ได้อะไรขึนมาเพราะร่างกายก็ไม่ได้กลับมาแข็งแรงแบบหนุ่มสาว เป็นเพียงการฟื้นตัวขึ้นมาช่วงหนึ่งเพื่อรอการเจ็บป่วยรอบใหม่เท่านั้น นี่เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้หลายประเทศยอมรับให้การุณยฆาต (MERCY KILLING) เป็นเรื่องถูกกฎหมายเพื่อให้ผู้ป่วยหนักทั้งหลายซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชรา ได้มีโอกาสจากไปอย่างสงบ
ส่วนประเทศญี่ปุ่นที่เรารับรู้กันว่าเป็นประเทศที่คนมีอายุยืนมาก มีผู้สูงอายุได้ลงกินเนสบุคอยู่เป็นประจำ ปรากฏว่าเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งหลายกำลังเจอปัญหาบ้านร้าง คือผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านเหล่านั้นตายจากไปแล้ว แต่ไม่มีใครมาอยู่ในบ้านเหล่านั้นแทน เนื่องจากคนหนุ่มสาวอพยพไปอยู่ในเมืองใหญ่กันหมดและไม่ยอมรับมรดกเนื่องจากภาษีมรดกของญี่ปุ่นแพงเกินไปมาก ประชาชนและแรงงานในเมืองก็ลดลง หน่วยธุรกิจต่างๆ ในเมืองไม่มีคนรุ่นถัดไปมารับช่วงต่อ เมืองเหล่านั้นจึงมีบ้านร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกิดปัญหาทางกายภาพและเศรษฐกิจของเมืองตามมา ส่วนประเทศเยอรมันพยายามแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่มีผลต่อการขาดแคลนแรงงานด้วยการขยายเวลาเกษียณอายุไปจนถึงอายุ 65 ปี โดยหวังว่าจะมีแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี แต่ปรากฏว่า คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำงานจนถึงอายุ 65 ปี เพราะคนยังมีหมุดหมายว่าอายุ 60 ปีจะเลิกทำงานแล้ว ครอบครัวและที่ทำงานยังจัดงานเลี้ยงวันเกิดใหญ่เมื่ออายุครบ 60 ปีตามเดิม จากนั้นก็ทำงานแค่อีกสัก 1-2 ปีแล้วก็ลาออกไปพักผ่อน ไม่ได้ทำงานอยู่จนครบ 65 ปีตามกรอบเกษียณอายุแบบใหม่หรอก และในช่วงสุดท้ายก็ไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่แบบเดิมแล้ว เจ้านายก็มักจะให้ทำงานที่รับผิดชอบน้อยลงและลาไปเที่ยวอย่างเต็มที่บ่อยๆ จึงไม่ได้ประสิทธิภาพจากการขยายเวลาเกษียณอายุเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่นัก
สำหรับประเทศไทย ปี 2556 เรามีสัดส่วนประชากรประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2556 เรามีผู้สูงอายุ 14.86% และคาดการณ์ว่าในปี 2573 เพิ่มขึ้นเป็น 26.3% และเพิ่มต่อเนื่องเป็น 32.1% ในปี 2583 ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันมีลักษณะคล้ายกับประเทศญี่ปุ่น คือ พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมของประเทศไทยเหลือแต่เด็กกับคนชรา ส่วนแรงงานหนุ่มสาวย้ายถิ่นไปทำงานในพื้นที่ที่มีโอกาสและรายได้จากการทำงานมากกว่าทำเกษตรกรรม ทิ้งพ่อแม่กับลูกไว้ที่บ้านเกิด ส่งเงินกลับมาเป็นตัวแทนให้ปู่ย่าตายายดูแลหลานไป ซึ่งก็อาจเป็นผลดีที่คนหนุ่มสาวไม่ต้องมีภาระการเลี้ยงดูลูก ทำงานได้เต็มที่ คนชราในชนบทไม่เหงามีหลานให้ดูแลแก้เบื่อ แต่ปัญหาสังคมก็ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปล่อยให้ปู่ย่าตายายดูแลเด็กๆ ยังไงก็ไม่เหมือนพ่อแม่ดูแลเอง อีกทั้งยังมีช่องว่างระหว่างวัยที่ห่างมาก วิถีชีวิตและสังคมแตกต่างกันจนตามกันไม่ทัน ส่วนในพื้นที่เมือง ปัญหาสังคมผู้สูงอายุเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่กลับหัวกับสังคมชนบท คือผู้สูงอายุในเมืองไม่มีครอบครัวดูแล อยู่อย่างโดดเดี่ยวด้วยสวัสดิการที่สะสมไว้จากวัยทำงานหรือรับสวัสดิการจากรัฐ อาศัยตามบ้านพักคนชราซึ่งก็ไม่สามารถรองรับผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ ส่วนที่พอจะมีกำลังทรัพย์ก็ยังอยู่ได้ด้วยตัวเองหรือไปซื้อที่อยู่อาศัยที่จัดไว้เฉพาะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ มีการเรียกร้องให้มีกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (UNIVERSAL DESIGN) การพัฒนาสุขภาพและวิถีการทำงานที่สอดคล้องกับคนชรา เป็นต้น
การรับมือปัญหาสังคมผู้สูงอายุไม่ได้พุ่งตรงไปที่กลุ่มผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมในภาพรวมที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่ม เด็กๆ ที่กำลังจะเกิดใหม่แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยลงมาก แต่ก็ต้องแบกภาระในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น ต้องผลิตเพื่อตนเองและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องจักรและระบบการจัดการต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้อย่างสอดคล้องกับจำนวนแรงงานที่ลดลง กลุ่มวัยทำงานวันนี้ต้องมีการเตรียมตัวที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกายและใจ เพื่อลดการพึ่งพาสวัสดิการส่วนกลางลงให้ได้มากที่สุดที่จะเป็นได้ อีกทั้งคนชราในแต่ละพื้นที่ก็ยังมีรูปแบบความต้องการและปัญหาที่แตกต่างกันไปอีก สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกัน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุที่เคยมีชีวิตไปวันๆ เพื่อรอวันตายอย่างเป็นภาระกับลูกหลาน กลายเป็นกลุ่มที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นต่อไป
ดร.พนิต ภู่จินดา
บทความนี้เผยแพร่ในเว็บไซต์ Rabbit Today เมื่อปี 2019