ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

กรม สบส.แนะปฏิบัติตามกฎหมายอุ้มบุญอย่างเคร่งครัด

กรม สบส.แนะปฏิบัติตามกฎหมายอุ้มบุญอย่างเคร่งครัด Thumb HealthServ.net
กรม สบส.แนะปฏิบัติตามกฎหมายอุ้มบุญอย่างเคร่งครัด ThumbMobile HealthServ.net

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายอุ้มบุญอย่างเคร่งครัด หากพบการโฆษณา หรือการโพสต์ข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งรับจ้างอุ้มบุญ ซื้อขาย อสุจิ ไข่ ตัวอ่อน หรือเป็นนายหน้า จะดำเนินการลงเอาผิดตามกฎหมายโดยไม่ละเว้นแต่อย่างใด

กรม สบส.แนะปฏิบัติตามกฎหมายอุ้มบุญอย่างเคร่งครัด HealthServ
 
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศประเทศที่มีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย และมีอัตราความสำเร็จจากการรับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ค่อนข้างสูง ทำให้นานาประเทศเกิดความมั่นใจ และต้องการรับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ กับแพทย์และสถานพยาบาลของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อช่วยให้คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีบุตรยากได้มีบุตรตามต้องการโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ กำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และควบคุมการศึกษาวิจัย มิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงร่วมตรากฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ขึ้น โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา
 
     แต่ด้วยในยุคดิจิตอลที่หลายคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และสื่อโซเชียลได้โดยง่าย ยิ่งต้องระวังเพราะอาจจะมีการเผยแพร่ข้อมูลหรือโพสต์ข้อความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านสื่อโซเชียล ทั้งการรับจ้าง หรือจ้างวานให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) การเสนอขายไข่ อสุจิ ตัวอ่อน หรือเป็นนายหน้าให้มีการอุ้มบุญเพื่อประโยชน์ทางการค้า ซึ่งการกระทำดังกล่าวล้วนผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย อาทิ การขายไข่จะส่งผลให้ผู้ที่ขายไข่มีโอกาสติดเชื้อ ตกเลือด มีโอกาสแทรกซ้อนเสียชีวิตจากการกระตุ้นไข่ และส่งผลให้ในอนาคตมีลูกยากอีกด้วย ดังนั้น เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัยของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีฯ ให้ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากมีการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนจะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์ขออนุญาตจะต้องเป็นคู่สมรสชาวไทยที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หรือคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติอย่างน้อย 3 ปีเท่านั้น หากผู้ใดฝ่าฝืนกฎหมาย กรม สบส.จะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายโดยไม่ละเว้นแต่อย่างใด
 
      ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) กล่าวว่า สำหรับบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 จะแบ่งตามลักษณะการกระทำผิด อาทิ หากผู้ใดรับจ้างอุ้มบุญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท, กระทำการซื้อ ขายอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, เป็นนายหน้า ชี้ช่องทางให้มีการรับตั้งครรภ์แทน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโฆษณาหรือไขข่าวให้แพร่หลายว่ามีหญิงประสงค์รับตั้งครรภ์ หรือมีบุคคลที่ประสงค์ให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


     ทั้งนี้ กรม สบส.ขอความร่วมมือประชน หากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการรับจ้างอุ้มบุญ ซื้อขาย อสุจิ ไข่ ตัวอ่อน หรือเป็นนายหน้าโดยบุคคลหรือสถานพยาบาลใดก็ตาม ให้แจ้งเบาะแสมาที่กลุ่มคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สพรศ. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18419, เฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ และกองกฎหมาย หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18830, เฟซบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน ในวันและเวลาราชการเพื่อป้องปรามการกระทำผิดต่อไป 

 5 พฤศจิกายน 2560

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด