15 สิงหาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานการคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาดของโรคฝีดาษวานร ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวาน (14 ส.ค. 65) พบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 25 ปี สัญชาติไทย เดินทางจากเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อถึงประเทศไทย ผ่านจุดคัดกรอง เจ้าหน้าที่ด่านฯ พบผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยเพลีย มีตุ่มที่ใบหน้าและแขน 2 ข้าง จึงเรียกผู้ป่วยเข้ารับการตรวจคัดกรอง จากการสอบถามผู้ป่วยมีประวัติเสี่ยง คือ ระหว่างที่อยู่ต่างประเทศมีประวัติเปลี่ยนคู่นอน โดยเริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2565 พบมีตุ่มขึ้นที่อวัยวะทั่วร่างกาย จากนั้นเริ่มมีไข้ หนาวสั่น ปวดหลัง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ได้รับการรักษาโดยการฉีดยาฆ่าเชื้อไม่ทราบชนิด แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงเดินทางกลับประเทศไทย หลังเจ้าหน้าที่ด่านฯ ตรวจพบ แพทย์ด่านฯ ตรวจร่างกายสงสัยโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ทางกองด่านกรมควบคุมโรคประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ สถาบันบำราศนราดูร และห้องปฏิบัติการที่ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก TRC-EIDCC โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยยืนยันพบเชื้อฝีดาษวานร นับเป็นผู้ป่วยรายที่ 5 ของไทย และเป็นเพศหญิงรายที่ 2
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการคัดกรองผู้เดินทาง กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรคได้วางระบบเฝ้าระวังคัดกรองไว้อย่างรัดกุม โดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หากผู้เดินทางมีอาการสงสัย สามารถเข้าตรวจโรคได้ทันที ทำให้สามารถตรวจคัดกรองและค้นพบผู้ป่วยยืนยันรายที่ 5 ได้อย่างรวดเร็ว คัดกรองได้ตั้งแต่สนามบิน
ทั้งนี้ สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นในแถบอเมริกาและแคนาดา ส่วนแถบทวีปยุโรปผู้ป่วยยังคงตัวเฉลี่ย 900 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ส.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยันทั่วโลก จำนวน 35,910 ราย เสียชีวิต 13 ราย ประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 11,177 ราย สเปน 5,856 ราย เยอรมัน 3,102 ราย อังกฤษ 2,914 ราย และบราซิล 2,849 ราย
“ขอประชาชนไม่ตื่นตระหนกและขอให้มั่นใจว่าระบบสาธารณสุขไทย ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรอง เฝ้าระวัง ป้องกันโรค และขอเน้นย้ำว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองบริเวณผิวหนังของผู้ป่วย จึงอยากแนะนำประชาชน รวมถึงผู้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดโรคฝีดาษวานรหรือพำนักอาศัยที่ต่างประเทศ ให้ป้องกันตัวจากโรคฝีดาษวานร ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดโอกาสการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำมูกของผู้ป่วย หรือสัตว์ติดเชื้อ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของร่างกาย ไม่สัมผัสแนบชิด ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก และรับประทานอาหารปรุงสุกสะอาด หากประชาชนมีความเสี่ยง มีการสัมผัสกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด มีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านท่านได้ทันที” นายแพทย์โอภาส กล่าว