นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โพสต์ในเพจของท่านเกี่ยวกับโครงการรถตู้โรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกรับส่งผู้ป่วย ที่จำเป็นต้องเดินทางไป-กลับ ระหว่างโรงพยาบาลสะบ้าย้อย กับ โรงพยาบาลสงขลา เพื่อเข้ารับการตรวจรักษา หรือ ติดตามการรักษา ตามที่แพทย์นัดหรือส่งต่อ ซึ่งมีกำหนดเปิดดำเนินการวันแรก
"5 มกราคม 2567 โรงพยาบาลสะบ้าย้อยเริ่มเดินรถตู้โรงพยาบาลเพื่อรับส่งผู้ป่วยนอกมาตรวจหรือติดตามการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลาจริงๆแล้วนะครับ เพื่อลดการ loss follow up เพิ่มโอกาสของคนอำเภอไกลโพ้นอย่างสะบ้าย้อยในการเข้าถึงบริการการแพทย์เฉพาะทาง"
กำหนดการเดินรถ
นพ.สุภัทร ระบุไว้ชัดเจนเกี่ยวกับกำหนดการออกรถ ดังนี้
"รถออกทุกวันราชการ เวลา 7.00 น. ถึง รพ.สงขลา 8.30 น. ออกรถกลับเมื่อผู้ป่วยและญาติกลับมาขึ้นรถครบทุกคนแล้ว (มีระบบโทรตามหากผู้ป่วยหรือญาติหากหายไปหรือมาช้า)"
การติดต่อขอรับบริการ
โทรจองได้ที่ศูนย์ส่งต่อโรงพยาบาลสะบ้าย้อย 074-377-100 ต่อ 108 หรือ 065-979-9690 (กรุณาโทรเวลา 14.00-16.00 น.) รับจำนวนจำกัดวันละไม่เกิน 12 คน
อัตราค่าโดยสาร
สำหรับค่าโดยสารกำหนดไว้ดังนี้
"โรงพยาบาลเก็บค่ารถคนละ 150 บาท (ไป-กลับ) โดยมีระเบียบเงินบำรุงรองรับ รถตู้โรงพยาบาลและพนักงานขับรถโรงพยาบาลเป็นไปตาม พรบ.การขนส่งทางบก"
เจตนารมย์และแนวทาง
สำหรับโครงการรถตู้โรงพยาบาลเพื่อรับส่งผู้ป่วยนี้ เกิดขึ้น จากกรณีที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เขียนเล่าถึงประสบการณ์จากคนไข้ท่านหนึ่ง เรื่อง
รักษาฟรี แต่ค่าเดินทางไปกลับ 2000 บาท ความไม่เดือดร้อนที่เจ็บปวด เล่าถึงความลำบากและต้นทุนอันสูงลิ่วของคนไข้ท่านหนึ่งที่ต้องเดินทางจากบ้านมาที่โรงพยาบาลสงขลา ตามใบส่งตัวที่แพทย์นัด ต้นทุนสุงลิ่วนั้นคือค่าเดินทางที่ต้องจ่ายถึง 2,000 บาทต่อการเดินทางไปกลับระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร แม้ค่ารักษาจะฟรีตามสิทธิบัตรทองพื้นฐานคนไทยก็ตาม แต่ค่ารถสองพันนี้ เรียกว่าแพงยิ่งกว่าคนกรุงเทพหรือเมืองไหนๆ ในโลกเสียอีก
นพ.สุภัทร ได้ กล่าวถึงแนวทางการจัดการ ที่จะเกิดขึ้นไว้ (ณ ขณะนั้น) ดังนี้
"ระบบคร่าวๆที่วางไว้คือ โรงพยาบาลก็จะจัดรถตู้วันละคัน จุ 13 คน มีระบบลงทะเบียนจองที่นั่งล่วงหน้า รถออกรถทุกวันราชการเวลา 7.00 น.ถึง รพ.สงขลา 8.30 น. แล้วรถคันน้้นก็จะรับผู้ป่วยกลับเวลา 16.00 น.ถึงสะบ้าย้อยก็ 17.30 น. ญาติมารับต่อ กลับบ้านไม่มืดค่ำเกินไป แต่ถ้าครบก่อนก็ออกก่อนได้ ถ้าไม่ครบก็ต้องรอจนครบ ผู้ป่วยมักมีญาติไปด้วย จึงให้บริการได้วันละ 6 คู่ ระหว่างรอ คนขับรถก็มีหน้าที่เสริมเช่น รับส่งเอกสาร ส่ง lab ที่จังหวัด เป็นต้น
ต้นทุนที่ประมาณการ เป็นค่าน้ำมันไปกลับ 200 กิโลเมตรราว 1,000 บาท ค่าจ้างคนขับรถ 500 บาท ค่าโทรศัพท์ประสานงานนิดหน่อย รวมเป็นต้นทุนวันละ 1,500 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายว่าด้วยรถและการซ่อมบำรุงนั้นโรงพยาบาลรับภาระไป
โรงพยาบาลจะวางระบบร่วมจ่าย จะเก็บเงินจากผู้ป่วยและญาติ คิดไปกลับเพียง 300 บาทต่อคู่(ผู้ป่วยและญาติ) ถ้ารับ 6 คู่ก็เก็บได้ 1,800 บาท โรงพยาบาลสะบ้าย้อยที่ค่อนข้างจนก็พออยู่ได้ เป็น not for profit logistic model"
รถเที่ยวแรกเดินรถแล้ว วันนี้ 5 ธันวาคม 2567 ความสำเร็จเกิดขึ้นแล้วในวันนี้ เป็นของขวัญเพื่อชาวสะบ้าย้อย ตามที่ได้สัญญาไว้จริงๆ
นพ.สุภัทร ทิ้งท้ายถึงความสำเร็จนี้ว่า
"ทาง รพ.สงขลา ยินดีช่วยให้บริการคนสะบ้าย้อยอย่างเข้าใจว่า ต้องบริหารจัดการไม่ให้รอนานจนสี่โมงเย็นไม่เสร็จ เพื่อจะได้กลับไม่ค่ำครับ ขอบคุณทุกฝ่ายทุกท่านมาก ที่ช่วยกันลุ้นจนสำเร็จ แล้วจะประเมินผลและเล่าให้ฟังเป็นระยะครับ"