ประเด็นภาระทางการเงิน พบสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยครึ่งหนึ่งไม่มีหนี้สินทางการเงิน ส่วนมากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกครึ่งหนึ่งมีภาระหนี้สิน พบมากในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยเกือบร้อยละ 40 เป็นหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ค่าเล่าเรียน รองลงมาคือ หนี้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และหนี้ค่าที่พักอาศัย ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่พฤติกรรมการเป็นหนี้เป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มหรือพื้นที่ ได้แก่ หนี้หวย หนี้พนันบอล ซึ่งมีการเล่นภายในครัวเรือนและมีอิทธิพลต่อวิถีการใช้จ่ายของนิสิตนักศึกษาด้วย
ประเด็นปัจจัยที่มีผลต่อการเรียน พบความเครียดเป็นสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 20 รองลงมาคือ ปัญหาทางการเงิน ร้อยละ 11.5 ความรู้สึกวิตกกังวล ร้อยละ 10.7 คิดถึงบ้าน ร้อยละ 9.3 ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ร้อยละ 7.9 และปัญหาเกี่ยวกับสมาธิ ร้อยละ 7.7 อีกร้อยละ 5 มีปัญหาการติดสื่อสังคมออนไลน์และเกม
ประเด็นความรุนแรงและการล่วงละเมิด พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.7 ไม่เคยโดนกระทำความรุนแรงหรือการถูกล่วงละเมิด ที่เหลือร้อยละ 10 เคยโดนกระทำแล้วด้วยการถูกทำร้ายจิตใจจากคนใกล้ชิด คิดเป็นร้อยละ 32.2 ถูกคุกคามทางวาจา ร้อยละ 32.0 และถูกลวนลาม ร้อยละ 8.9 โดยนิสิตนักศึกษาที่เป็น LGBTQIA+ และในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสัดส่วนสูงสุด
ดร.ศิริเชษฐ์ ชี้ให้เห็นว่า แนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาของประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการขับเคลื่อนในระดับนโยบายภายใต้ 2 แนวทาง เริ่มจากการพัฒนาฐานข้อมูลสถานการณ์ด้านสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในประเทศไทย เพื่อทำให้เกิดการรับรู้สถานการณ์ระดับประเทศหรือแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นปัจจุบัน นำข้อมูลมาใช้เปรียบเทียบและขับเคลื่อนนโยบายที่เหมาะสมสำหรับมหาวิทยาลัยของตนในแต่ละแห่ง โดยเก็บข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแนวทางการเฝ้าระวังหรือป้องกันแบบ “เชิงรุก” ผ่านการตอบแบบสอบถาม “แบบประเมินสุขภาวะระดับมหาวิทยาลัย” ในรูปแบบออนไลน์ และสร้างกลไกเพื่อนช่วยเพื่อน (Health-me Buddy) เพื่อเสริมการทำงานของแต่ละมหาวิทยาลัยในการดูแลและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของเพื่อนร่วมชั้นเรียน ผ่านการอบรมและทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านร่างกายและจิตวิทยา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ
นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าแผนการพัฒนาประเทศ ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในด้านการสาธารณสุขนั้น ได้มีการเน้นถึงความสำคัญของการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เด็กวัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเรียนระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังจะเข้าสู่วัยทำงานในระยะเวลาต่อไป แนวโน้มพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสุขภาพและสังคมปัจจุบันของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมทางเพศ ยาเสพติด การออกกำลังกาย สุขภาพจิต การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด หรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาทาง สังคมและสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การทำความเข้าใจพฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัย ในประเทศไทย รวมทั้งการศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
“ผลสำรวจจากโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยครั้งนี้ จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ของ สสส. เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายสุขภาวะในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพ” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
ด้าน ดร.ลัทธจิตร มีรักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปิดท้ายว่า การประชุมในครั้งนี้จะทำให้เกิดการรับรู้ถึงกลไกในการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะในมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมตามแต่ละบริบทของมหาวิทยาลัย ซึ่งทางกระทรวงฯ จะนำผลการศึกษานี้ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการดำเนินงานในอนาคตร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมพร้อมขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาวะที่เหมาะสมสำหรับนิสิตนักศึกษาในประเทศไทยต่อไป