31 สิงหาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าขณะนี้ประเทศไทยหลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และเกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และโรคอื่นๆ เช่น โรคไข้ซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 29 ส.ค. 2565 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 19,380 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 16 ราย
เป็นจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ที่สูงกว่าปีที่แล้วถึง ร้อยละ 167
สาเหตุหนึ่งคือผลจากการผ่อนคลายมาตรการของโรคโควิด 19 ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางและไปทำกิจกรรมในสถานที่สาธารณะได้มากขึ้น เช่น โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ทำงาน
จากการสำรวจลูกน้ำยุงลายของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พบว่า ร้อยละ 40 – 60 ของโรงเรียน วัด โรงแรม รีสอร์ท โรงงาน และสถานที่ราชการ มีลูกน้ำยุงลาย จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในปีนี้
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ให้ดำเนินการมาตรการเร่งรัดการควบคุมการระบาดโรคไข้เลือดออก โดยขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งดำเนินการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ
กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออก ดังนี้
- ป้องกันการเกิดของยุงลาย โดยปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุงลาย เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด เพื่อป้องกันยุงลายมาวางไข่
- ป้องกันยุงกัด เช่น การทายากันยุง นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง ใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว เป็นต้น
- ป้องกันการเสียชีวิต โดยหากมีบุตรหลานหรือคนในครอบครัว มีไข้สูงเกิน 2 วัน เช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดหรือไข้ลดแต่กลับมาสูงอีก ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรรับประทานยาลดไข้กลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพรินและไอบูโพร- เฟน เพราะยาเหล่านี้จะทำให้มีอาการเลือดออกมากขึ้นและเสียชีวิตได้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้
การปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว สามารถป้องกันได้ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคไข้ซิกา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422