นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า "โครงการก๊าซชีวภาพจากมูลไก่สู่พลังงานทดแทน : ฟาร์มจักราชและฟาร์มโพธิ์ประทับช้าง ของกลุ่มธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ" ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) จากการประกวด Thailand Energy Awards 2022 จัดโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน นอกจากนี้ พพ. คัดเลือก "โครงการก๊าซชีวภาพจากมูลไก่สู่พลังงานทดแทน : ฟาร์มจักราช” ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดในระดับอาเซียน จนสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง “ASEAN Energy Awards 2022” ในการประชุมด้านพลังงานและการแสดงนิทรรศการพลังงานที่สำคัญแห่งอาเซียน (AEBF 2022) จัดโดยศูนย์พลังงานอาเซียน (ACE) และในปีนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการพลังงาน ของประเทศกัมพูชา เป็นเจ้าภาพจัดงานในรูปแบบ LIVE&ONLINE ที่จัดคู่ขนานกับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนพลังงาน ASEAN Ministers on Energy Meeting (AMEM) ครั้งที่ 40 ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน ณ ประเทศกัมพูชา โดยมี 10 รัฐมนตรีอาเซียนร่วมการประชุม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของอาเซียน
“ASEAN Energy Awards เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ซีพีเอฟได้รับ สะท้อนความมุ่งมั่นของบริษัทที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของบุคลากรในทุกระดับ โดยธุรกิจไก่ไข่เน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนากระบวนการผลิต ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม ด้วยแนวคิดการจัดการฟาร์มที่ดีสู่ Zero Waste to Landfill มุ่งสู่การผลิตพลังงานหมุนเวียนและใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (Renewable Energy 100) สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030” นายสมคิด กล่าว
สำหรับโครงการก๊าซชีวภาพจากมูลไก่สู่พลังงานทดแทน เป็นการนำของเสียกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ มีความโดดเด่นที่สามารถนำมูลไก่จากกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่ มาใช้ประโยชน์ในการสร้างพลังงานทดแทน ด้วย Biogas หรือระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อหมักไร้อากาศ (Anaerobic Covered Lagoon) จากกระบวนการหมักเปลี่ยนน้ำเสียเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่สามารถนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าถึง 65-85% และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนกากไบโอแก๊สหลังกระบวนการหมักและบำบัด การแจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับสภาพดินก่อนปลูกพืชหรือทำนา ส่วนน้ำหลังการบำบัด ซึ่งเป็นน้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช นำมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งรดน้ำต้นไม้ ล้างพื้นถนน ทดแทนการใช้น้ำประปา และเกษตรกรใกล้เคียงนำไปใช้รดต้นพืช ช่วยให้การเจริญเติบโตดี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีได้
ผลจากการดำเนินโครงการฯ ของฟาร์มจักราชและฟาร์มโพธิ์ประทับช้าง ในระยะเวลา 2 ปี สามารถผลิตเป็น Biogas ได้ 6,092,121 ลบ.ม. นำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า 7,259,006 kWh ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐได้สูงถึง 29 ล้านบาทต่อปี เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ 5,273 TCO2ต่อปี จากความสำเร็จของโครงการฯ นำไปสู่การเป็นฟาร์มต้นแบบในการจัดการการผลิต Biogas จากมูลไก่ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษากระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป