22 กันยายน 2565 ที่ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เขาเขียว อ.เมือง จ.นครสวรรค์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เขาเขียว พร้อมรับมอบเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา จำนวน 23,860,050 บาท โดยมี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมพิธี
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาระบบบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ระดับทุติยภูมิ ระดับตติยภูมิ รวมถึงหน่วยบริการที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูง และเชื่อมโยงกันด้วยระบบส่งต่อ (Referral System) แบบไร้รอยต่อ เพื่อให้สามารถจัดบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จํากัดอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากร ตลอดจนความต้องการด้านสุขภาพของประเทศได้ทันท่วงที ซึ่งโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์แห่งใหม่นี้ ได้พัฒนาระบบบริการตติยภูมิเฉพาะด้าน เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellence Center) 5 ด้าน ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ภาวะวิกฤตเด็กเล็ก อุบัติเหตุและการปลูกถ่ายอวัยวะ มีการจัดระบบต่างๆ ทั้งด้านอาคารสถานที่ ภูมิทัศน์ ระบบนัดหมายผู้ป่วย ระบบการขนส่ง/การเดินทาง และระบบบริการรับ-ส่งผู้ป่วย เป็นต้น สามารถรองรับการให้บริการประชาชนทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ช่วยลดการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกเขตสุขภาพได้อย่างดี
ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ของเขตสุขภาพที่ 3 ซึ่งประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท และอุทัยธานี เนื่องจากโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เดิมมีพื้นที่เพียง 14 ไร่เศษ ทำให้สถานที่คับแคบ มีปัญหาเรื่องความแออัดและไม่สามารถขยายศักยภาพการบริการตติยภูมิเฉพาะด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในกรุงเทพมหานคร หรือโรงพยาบาลในเขตสุขภาพอื่นๆ เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษานอกพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ไปรับการรักษาตามนัด ประกอบกับเมื่อปี 2554 เกิดอุทุกภัยครั้งใหญ่จนโรงพยาบาลต้องหยุดให้บริการ ทำให้ผู้บริหารต้องทบทวนการจัดหาพื้นที่แห่งใหม่ เพื่อลดผลกระทบต่อการให้บริการ และประชาชนได้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่ดีมีมาตรฐาน ใกล้บ้าน
โดยโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์แห่งใหม่สร้างขึ้นบนเนื้อที่ 200 ไร่ ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการดำเนินงานก่อสร้าง ใช้เงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ รวม 3,000 ล้านบาท ระยะเวลาการก่อสร้าง 8 ปีเศษ เริ่มเปิดให้บริการบางส่วนตั้งแต่ปี 2559 โดยให้บริการฉายรังสีเป็นครั้งแรก ต่อมาได้ขยายบริการด้านทันตกรรม เวชกรรมฟื้นฟู ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และมีกำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือน เมษายน 2566 นี้