เรื่องนี้ นายแพทย์ เพชร สมบูรณ์กุลวุฒิ ผู้บริหารศูนย์บริการการแพทย์ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้ให้คำแนะนำและความรู้ เกี่ยวกับเรื่องของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งด้วยวิธีต่าง ๆ จะขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่ต้องการคัดกรอง นอกจากนี้ ยังควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ความเสี่ยง และความจำเป็นตามมาตรฐานทางการแพทย์ ดังนั้นจึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เมื่อต้องการตรวจ หรือเมื่อมีอาการผิดปกติ “
นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อมูลและคำแนะนำ สำหรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่พบบ่อยมีดังนี้
มะเร็งลำไส้ใหญ่
แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือมีอาการผิดปกติ หรือหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้แนะนำให้ตรวจเร็วขึ้น เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 5 ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจคัดกรองโดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonoscopy) หรือการตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal Occult Blood Test) ได้เช่นกัน ขึ้นการความเหมาะสม
มะเร็งเต้านม
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแนะนำให้ตรวจด้วยหลายวิธีร่วมกันดังนี้
1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง แนะนำให้ผู้หญิงตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1 เดือน
2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรม แนะนำให้ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมอย่างน้อยทุก 3 ปี ส่วนสตรีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปให้ตรวจทุกปี
3. การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) แนะนำให้ตรวจเป็นประจำในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติเสี่ยง เช่น ประวัติครอบครัว มีบุตรช้า ประจำเดือนมาเร็ว หรือใช้ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมน แนะนำให้ตรวจเร็วขึ้น
มะเร็งต่อมลูกหมาก
การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถทำได้โดยการตรวจวัดระดับสารพีเอสเอ (PSA) ในเลือด ซึ่งแนะนำให้ผู้ชายอายุ 50 – 70 ปี หรือมีอาการผิดปกติ ตรวจเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ตรวจทางทวารหนัก (Digital rectal examination: DRE) ร่วมด้วยซึ่งช่วยให้การตรวจคัดกรองมีประสิทธิภาพมากขึ้น