ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

บำรุงราษฎร์ ทำสำเร็จ ปลูกถ่ายหัวใจ ไต ตับ กระจกตา จุดชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วย

บำรุงราษฎร์ ทำสำเร็จ ปลูกถ่ายหัวใจ ไต ตับ กระจกตา จุดชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วย Thumb HealthServ.net
บำรุงราษฎร์ ทำสำเร็จ ปลูกถ่ายหัวใจ ไต ตับ กระจกตา จุดชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วย ThumbMobile HealthServ.net

จุดประกายชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วย! บำรุงราษฎร์ ยกระดับศูนย์การปลูกถ่ายอวัยวะชั้นนำในไทยด้วยมาตรฐานระดับโลก พร้อมเผยผลสำเร็จในการปลูกถ่ายหัวใจ ไต ตับ และกระจกตา

บำรุงราษฎร์ ทำสำเร็จ ปลูกถ่ายหัวใจ ไต ตับ กระจกตา จุดชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วย HealthServ
การปลูกถ่ายอวัยวะ นับเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สำคัญอย่างมากในการช่วยชีวิตและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตองผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้หลายโรค เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง และโรคหัวใจล้มเหลว รวมถึงการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ซึ่งเปรียบเสมือนการให้ชีวิตใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
 
บำรุงราษฎร์ ทำสำเร็จ ปลูกถ่ายหัวใจ ไต ตับ กระจกตา จุดชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วย HealthServ
 

         ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอวัยวะปลูกถ่าย โดยข้อมูล Global Observatory on Donation and Transplantation (GODT) ระบุว่าในปี 2022 ทั่วโลกมีการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งหมดเพียง 157,494 ครั้ง และ "ไต" เป็นอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายมากที่สุดในโลก รองลงมาคือ ตับ และหัวใจ และยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะ ขณะที่ข้อมูลของประเทศไทยล่าสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 จากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ระบุว่า มีจำนวนผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะ สูงถึง 7,486 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดย 95% เป็นผู้ป่วยที่รอ "ไต" รองลงมา คือ ตับ หัวใจ ปอด และตับอ่อน ขณะเดียวกันมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้วเพียง 946 ราย และจะมีผู้เสียชีวิตระหว่างรอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 ราย 
 

บำรุงราษฎร์ ทำสำเร็จ ปลูกถ่ายหัวใจ ไต ตับ กระจกตา จุดชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วย HealthServ
ทีมแพทย์การปลูกถ่ายอวัยวะรพ.บำรุงราษฎร์ มาบอกเล่าความสำเร็จและความก้าวหน้าในการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญการของทีมแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และทำในสถาบันที่มีมาตรฐานและมีประสบการณ์สูง

การปลูกถ่ายอวัยวะ เปรียบเสมือนความหวังใหม่ของผู้ป่วย - รศ.นพ. ทวีสิน ตันประยูร

 รศ.นพ. ทวีสิน ตันประยูร ประธานปฏิบัติการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เปิดเผยในงานแถลงข่าว ‘Bumrungrad Transplant Services: Where Life Gets a Second Chance’ ว่า การปลูกถ่ายอวัยวะ เปรียบเสมือนความหวังใหม่และอีกโอกาสที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีชีวิตใหม่ที่สมบูรณ์มากขึ้น
 ในฐานะที่บำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาในระดับจตุตถภูมิ (Quaternary Care) เราได้พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เพื่อให้การบริบาลดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุมเพื่อส่งมอบผลลัพธ์ที่ดีที่สุดมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์ในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะสำคัญ ปัจจุบัน บำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับให้เป็นศูนย์การปลูกถ่ายอวัยวะหัวใจ ไต ตับ และกระจกตา จากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และสามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ครบทั้ง 3 อวัยวะ และ 1 เนื้อเยื่อ ได้แก่ ‘หัวใจ ไต ตับ และกระจกตา’ ซึ่งการปลูกถ่ายอวัยวะถือเป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญการของทีมแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และทำในสถาบันที่มีมาตรฐานและมีประสบการณ์สูง  
 

บำรุงราษฎร์ปลูกถ่ายไตสำเร็จสูงกว่า 90% เทียบเท่ามาตรฐานระดับโลก - นพ. ทัตพงศ์ จิตเอื้ออารีย์

 นพ. ทัตพงศ์ จิตเอื้ออารีย์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ - ไตวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ไต เป็นอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายบ่อยที่สุดในโลก โดยกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต คือ ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ทั้งในกลุ่มที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตหรือยังไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไตสามารถปลูกถ่ายไตได้ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการประเมินความพร้อมด้านสุขภาพก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายไตจากสหสาขาวิชาชีพ อาทิ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านหัวใจ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช แพทย์ผู้ชาญการด้านศัลยศาสตร์การปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น 
 
บำรุงราษฎร์ได้ดำเนินการปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยมากว่า 37 ปี ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น การดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และการรักษาผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายด้วยการปลูกถ่ายไต และสามารถปลูกถ่ายไตผู้ป่วยได้ตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ปี จนถึงอายุมากกว่า 80 ปี รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายโรค โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลดูแลภาวะหลังการปลูกถ่ายไตอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมีทีมแพทย์ผ่าตัดที่พร้อมเดินทางไปผ่าตัดไตที่รับบริจาคจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ และพร้อมผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้ผู้ป่วยหลังจากไตบริจาคมาถึงโรงพยาบาล 
 
โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บำรุงราษฎร์มีอัตราความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตสูงกว่า 90% ซึ่งนับเป็นอัตราความสำเร็จที่สูงเทียบเท่ามาตรฐานระดับโลกอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรปตะวันตก ความสำเร็จนี้เกิดจากการผสมผสานประสบการณ์ของทีมแพทย์ เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การตรวจวิเคราะห์ยีน การใช้เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องและหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ที่สำคัญ บำรุงราษฎร์ยังสามารถทำการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดได้สำเร็จ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างครบวงจรและมีโอกาสกลับมามีชีวิตที่สมบูรณ์ได้อีกครั้ง
 

ผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตจากการปลูกถ่ายหัวใจมากถึง 85-90% - พญ. ปิยฉัตร พิพัฒนพงศ์โสภณ

 พญ. ปิยฉัตร พิพัฒนพงศ์โสภณ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ - หัวใจล้มเหลว โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวถึงผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นสุดท้ายมักเผชิญกับความท้าทายในการใช้ชีวิตประจำวัน หัวใจที่อ่อนล้าไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทำให้เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงถึง 10% ต่อปี ‘การปลูกถ่ายหัวใจ’ จึงเป็นการรักษาขั้นสูงสุดที่ช่วยยืดอายุและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจถือว่าประสบความสำเร็จสูง จากสถิติผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตมากถึง 85-90% ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนใหญ่อาจเสียชีวิตภายในระยะเวลาเพียง 1-2 ปี
 การปลูกถ่ายหัวใจ จึงเป็นทางเลือกในการรักษาที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นสุดท้าย เพราะเป็นการรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูง โดยการแทนที่หัวใจที่เสียหายด้วยหัวใจดวงใหม่จากผู้บริจาค ทำให้หัวใจสามารถทำงานได้เป็นปกติอีกครั้ง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ การปลูกถ่ายหัวใจเป็นการผ่าตัดใหญ่และมีขั้นตอนที่ซับซ้อน โดยก่อนการผ่าตัด แพทย์จำเป็นต้องประเมินสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อให้มั่นใจการผ่าตัดจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 1-3 สัปดาห์ ซึ่งจะมีหน่วยดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจขั้นวิกฤต ที่จะดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
 

สถาบันโรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างครอบคลุม

สถาบันโรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างครอบคลุม รวมถึงแพทย์เฉพาะทางด้านภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งผ่านการฝึกอบรมและได้รับวุฒิบัตรผู้ชำนาญการเฉพาะทางสาขาภาวะหัวใจล้มเหลวจากประเทศสหรัฐอเมริกา (American Board) ด้วยแนวทางการดูแลรักษาเฉพาะบุคคล ตั้งแต่การวินิจฉัย การวางแผนการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ จนถึงการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ ด้วยประสบการณ์มากกว่า 20 ปี พร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย และได้การรับรองมาตรฐานสากล JCI Heart Failure สหรัฐอเมริกา ทำให้การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บำรุงราษฎร์สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้กับผู้ป่วย 5 รายได้สำเร็จ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับ มีอัตรารอดชีวิต 97% ในปีแรก - พญ. อรพิน ธนพันธุ์พาณิชย์

 พญ. อรพิน ธนพันธุ์พาณิชย์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร - โรคตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะตับ มักจะเป็นผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับตับในระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยโรคที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายตับ ได้แก่ 1. ภาวะตับวายเฉียบพลัน มักเกิดกับผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคตับมาก่อน ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ยาเกินขนาดหรือเกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ 2. โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคที่ทำให้มีการสะสมสารบางอย่างในตับผิดปกติ ส่งผลต่อการทำงานของตับและอวัยวะอื่น ๆ 3. ภาวะตับอักเสบเรื้อรังจนทำให้เป็นตับแข็งระยะท้ายที่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยยาหรือเทคนิคการรักษาอื่น ๆ ซึ่งเกิดหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและเชื้อไวรัสอื่น ๆ การดื่มสุรามากเกินไปเป็นระยะเวลานานและโรคไขมันพอกตับ และ 4. โรคมะเร็งตับ ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนและสภาพของตับว่าเหมาะสมกับการปลูกถ่ายตับหรือไม่ หากเป็นในระยะแรกเริ่ม แพทย์สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการอื่น ซึ่งการรักษาด้วยการปลูกถ่ายตับจะช่วยยืดอายุและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น

 
 การรักษาด้วยการปลูกถ่ายตับ จะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยกลับมาทำงานได้เป็นปกติมากขึ้น ทั้งในส่วนของการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ดีขึ้น โดยตับใหม่จะทำหน้าที่ในการกำจัดสารพิษในร่างกาย สร้างโปรตีน และผลิตน้ำดี ทำให้การทำงานของอวัยวะอื่น ๆ เช่น ไต หัวใจ และสมองกลับมาเป็นปกติ รวมถึงอาการที่เกิดจากโรคตับจะทุเลาลง เช่น อาการเหนื่อยง่าย บวม อาเจียน ก็จะทุเลาลงหรือหายไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมีแรงมากขึ้น ทำกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงมีอายุขัยที่เพิ่มขึ้น 
 
ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับ จะมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 97% ในปีแรก, 82% ใน 5 ปี และ 67% ใน 10 ปี ซึ่งถือเป็นอัตราความสำเร็จที่สูง สะท้อนให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ และด้วยประสบการณ์กว่า 22 ปีในการปลูกถ่ายตับ ซึ่งคลินิกโรคตับเป็นหนึ่งใน 8 คลินิกเฉพาะทางของศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยมากกว่า 42,000 รายต่อปี และสามารถดูแลรักษาโรคตับได้อย่างครอบคลุม เช่น ตับอักเสบเฉียบพลัน ตับอักเสบเรื้อรัง ก้อนเนื้อในตับ ไขมันพอกตับ และมะเร็งตับ จนถึงการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกครั้ง  
 

บำรุงราษฎร์ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายกระจกตาด้วยอัตราสูงถึง 97% - ศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ

 ศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ แพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา การผ่าตัดแก้ไขสายตา กระจกตา และ ต้อกระจก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวปิดท้ายเกี่ยวกับปัญหากระจกตาเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคกระจกตาเสื่อม กระจกตาโก่ง/ย้วย กระจกตาบวม และกระจกตาเป็นแผล ซึ่ง ‘การปลูกถ่ายกระจกตา’ เป็นการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนกระจกตาส่วนที่เสียหายด้วยกระจกตาจากผู้บริจาค เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการมองเห็นของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ช่วยเสริมความแข็งแรงของกระจกตาในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระจกตาบางหรือทะลุ ซึ่งบำรุงราษฎร์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น กล้องผ่าตัดที่มีการผนวกเทคนิคที่ช่วยในการตรวจชั้นต่าง ๆ ของกระจกตาในระหว่างผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสูงขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน
 
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา มีด้วยกัน 2 วิธี คือ 1. การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาทุกชั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาที่กระจกตาทุกชั้น และ 2. การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะชั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาที่กระจกตาบางชั้นเท่านั้น โดยมีให้เลือกทั้งการปลูกถ่ายกระจกตาชั้นบน และการปลูกถ่ายกระจกตาชั้นใน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ละเอียดอ่อนและมีความแม่นยำสูง และในกรณีผู้ป่วยที่มีโรคกระจกตาซับซ้อน ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา พร้อมเทคนิคการรักษาที่หลากหลาย เช่น เลเซอร์ PTK, ฉายแสง UV-A และการผ่าตัดใส่วงแหวน ซึ่งอาจใช้รักษาร่วมกับการปลูกถ่ายกระจกตาเพื่อปรับปรุงการมองเห็นให้ดีที่สุด 
 
ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายกระจกตาด้วยอัตราสูงถึง 97% โดยผู้ป่วยยังคงมองเห็นได้ชัดเจนหลังการผ่าตัด 1 ปี และไม่มีรายงานภาวะแทรกซ้อนใด ๆ เช่น การติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นเป็นปกติได้
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด