ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรงพยาบาลสงฆ์จัดตั้ง กุฏิชีวาภิบาล ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย

โรงพยาบาลสงฆ์จัดตั้ง กุฏิชีวาภิบาล ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย Thumb HealthServ.net
โรงพยาบาลสงฆ์จัดตั้ง กุฏิชีวาภิบาล ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย ThumbMobile HealthServ.net

โรงพยาบาลสงฆ์ ร่วมมือกับคณะพระสังฆาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมทั้งองค์กรภาคีเครือข่าย ด้านการแพทย์ การสาธารณสุขในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนโครงการกุฏิชีวาภิบาล พร้อมมีการอบรมถวายความรู้พระคิลานุปัฏฐาก ให้สามารถดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย โดยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลพระสงฆ์อาพาธเสมือนเป็น อสว. เพื่อให้พระสงฆ์อาพาธระยะท้าย มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยี (Virtual Hospital) อันทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้พระสงฆ์เข้าถึงการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ


 
             นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลสงฆ์ มีการดำเนินการเพื่อสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปี 2567 ข้อที่ 8 (Quick win) เรื่องสถานชีวาภิบาล เพื่อให้มีการจัดสถานที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะท้าย หรือการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Ward/Hospital at Home) จากข้อมูลสถิติของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประจำปี 2564 ประเทศไทยมีวัดทั้งสิ้นจำนวน 43,562 วัด มีพระภิกษุสามเณร ประมาณ 241,368 รูป พบว่าพระอาพาธระยะท้าย เป็นจำนวน 9,655 รูป จึงได้กำหนดให้มีการดำเนินโครงการ “กุฏิชีวาภิบาล” เพื่อให้การดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีพระคิลานุปัฏฐากที่ผ่านการอบรมถวายความรู้ตามหลักสูตร “การดูแลพระอาพาธระยะท้ายของพระคิลานุปัฏฐาก” ที่เน้นการดูแลสุขภาพพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้พระคิลานุปัฏฐาก มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่วัด ซึ่งนอกจากจะสามารถให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ภายในวัดแล้ว ท่านยังสามารถให้ความรู้ให้การช่วยเหลือแก่ญาติโยมประชาชนในชุมชน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ทำให้พระสงฆ์แข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุขตามวิถีชีวิตและบริบทสังคมไทย    
 
           ด้านนายแพทย์อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสงฆ์ให้ความสำคัญกับการดูแล สุขภาพพระสงฆ์มาโดยตลอด จากข้อมูลสถิติของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งพระสงฆ์เองมีวัตรปฏิบัติต่างจากฆราวาสทั่วไป ต้องปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย เมื่ออาพาธติดเตียงหรือเจ็บป่วยระยะท้าย ท่านก็มีความประสงค์จะขอกลับวัด แต่สถานที่ที่จะรับรองความเจ็บป่วยมีจำนวนน้อยหรือบางวัดก็ไม่มี โรงพยาบาลสงฆ์ จึงได้จัดทำโครงการ “กุฏิชีวาภิบาล” เพื่อเป็นสถานที่ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย โดยนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Virtual Hospital) มาสนับสนุนการให้บริการ เพื่อให้พระสงฆ์เข้าถึงการบริการอย่างมีคุณภาพมีการสอดรับกันระหว่างวัดและโรงพยาบาล รวมทั้งได้มีการพัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฏฐากที่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรของกรมอนามัยจำนวน 70 ชั่วโมง มารับการอบรมถวายความรู้เพิ่มเติมภาคทฤษฎีอีก 5 วัน และภาคปฏิบัติในโรงพยาบาลอีก 15 วัน เรื่องของการดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย ทั้งนี้โรงพยาบาลสงฆ์ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอุปัฏฐากพระสงฆ์อาพาธที่เอื้อต่อพระธรรมวินัยให้กับบุคลากรในพื้นที่เขตสุขภาพทั่วประเทศ ทั้ง 13 เขตสุขภาพ
 


           พร้อมทั้งได้กำหนดจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบ จำนวน 4 แห่งในเบื้องต้น ได้แก่
           1. วัดท่าประชุม จังหวัดขอนแก่น (เขตสุขภาพที่ 7)
           2. วัดทับคล้อ จังหวัดพิจิตร (เขตสุขภาพที่ 3)
           3. วัดบุญนารอบ จังหวัดนครศรีธรรมราช (เขตสุขภาพที่ 11) 
           4. วัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี (เขตสุขภาพที่ 4) 

           โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2570 จะดำเนินการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลให้ครบทุกเขตสุขภาพ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งคณะพระสังฆาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมทั้งภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นต้น

โรงพยาบาลสงฆ์

445 ถ. ศรีอยุธยา แขวง ทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด