จากข้อมูลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์พบว่าประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังที่ไม่พบสาเหตุอื่นที่แน่ชัด มีการเบ่งอุจจาระที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งอาจเกิดจากไม่มีแรงเบ่งหรือเบ่งได้ไม่แรงพอ หรือหูรูดทวารหนักหดเกร็งหรือไม่คลายตัวในขณะเบ่ง โดยอาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งข้างต้น หรือทั้งสองสาเหตุร่วมกันก็ได้ ทำให้เบ่งอุจจาระไม่ออกและต้องใช้เวลาในการถ่ายมากกว่าปกติ ผู้ป่วยท้องผูกที่เกิดจากปัญหาการเบ่งนี้มักต้องใช้ยาสวน หรือต้องใช้ยาระบายปริมาณมากเพื่อให้อุจจาระเหลวและถ้าเป็นเรื้อรังอาจเป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวารได้
การเบ่งอุจจาระที่ไม่ถูกวิธีนี้สามารถวินิจฉัยได้โดยใช้เครื่องตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก (anorectal manometry) ร่วมกับการตรวจทางรังสีวิทยา
การฝึกเบ่งเพื่อรักษาท้องผูก คือ...
การฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งอุจจาระสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังที่เกิดจากการเบ่งอุจจาระ ที่ไม่ถูกวิถือเป็นวิธีการรักษาตามมาตรฐานที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับโรคนี้
ในการฝึกการเบ่ง เครื่องคอมพิวเตอร์จะแสดงให้เห็นถึงแรงเบ่งและการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักขณะที่เบ่งโดย ผู้ป่วยจะรับรู้ได้จากภาพที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ว่าเบ่งได้แรงเพียงใด และหูรูดทวารหนักกำลังเกร็งตัวหรือคลายตัวอยู่ การฝึกเบ่งซ้ำๆ โดยมีแพทย์ และพยาบาล คอยให้คำแนะนำจะทำให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการเบ่งที่ถูกต้องได้ในที่สุด โดยทั่วไปการฝึกแต่ละครั้งใช้เวลาฝึกประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง โดยจะนัดมาทุก 1-2 สัปดาห์รวม 4-6 ครั้ง
การรักษามี 3 ขั้นตอน
ประกอบด้วย
1. การให้ความรู้ คำแนะนำ
ก่อนการฝึกเบ่งจะให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกการเบ่งอุจจาระที่เป็นปกติและให้คำแนะนำ โดยเน้นย้ำถึงการปฏิบัติตัวเพื่อการถ่ายอุจจาระอย่างเป็นปกติ เช่น การดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีกากใยที่เพียงพอการตอบสนองต่อความรู้สึกปวดอุจจาระ การใช้ยาระบายอย่างเหมาะสม
2. การฝึกเบ่งให้มีประสิทธิภาพ
เช่น การฝึกหายใจโดยใช้กะบังลม การกลั้นหายใจขณะเบ่ง การควบคุมให้หูรูดทวารหนักคลายหรือไม่เกร็งตัว เป็นต้น โดยการฝึกในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีวิธีการแตกต่างกันออกไปตามปัญหาที่พบ 110%
3. การประเมินติดตามผล
ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินอาการ การปฏิบัติตัวทั่วไปการใช้ยาระบาย และแก้ไขขั้นตอนในการเบ่งที่ปัญหาในทุกครั้งของการมาฝึก
"การรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลประมาณ 60-80% และส่วนใหญ่มักจะตอบสนองต่อการรักษาในระยะยาว"
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักและฝึกเบ่งนี้มีความปลอดภัยสูง มีผู้ป่วยน้อยรายเท่านั้นที่อาจมีเลือดออกทางทวารหนักหลังการตรวจหรืออาการแพ้ผลิตภัณฑ์ยางซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการใช้ฝึกการทราบสาเหตุของอาการท้องผูกเรื้อรังโดยเฉพาะในรายที่มีอาการจนรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเนื่องจากหากพบว่าสาเหตุเกิดจากการเบ่งที่ไม่ถูกวิธีแล้ว การรักษาโดยการฝึกเบ่ง (bio-feedback therapy) จะเป็นการรักษาที่ได้ผลดีในระยะยาวและมีจำนวนไม่น้อยที่หายขาดได้
สนใจเข้ารับบริการได้ที่
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย