การระบาดของโรคไข้หวัดนก เกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคไข้หวัดนกเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ขนิดเอสัตว์ปีกทุกชนิดติดเชื้อนี้ได้ ไก่มักป่วยรุนแรงและตายส่วนนกน้ำ นกชายทะเล และนกป่ามักไม่ป่วย แต่จะมีเชื้อออกมากับมูล ทำให้โรคแพร่มายังไก่ เป็ด ที่เลี้ยงในฟาร์มและตามบ้านเรือน รวมทั้งนกในธรรมชาติ
คนติดโรคไข้หวัดนกได้อย่างไร
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดจากการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายด้วยโรคไข้หวัดนก โดยเชื้อไวรัสในน้ำมูก น้ำลาย และ มูลของสัตว์ป่วย อาจติดมากับมือและเข้าสู่ร่างกายคนทางเยื่อจมูกและตา ผู้ป่วยบางราย ติดเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ ในสิ่งแวดล้อม ไม่พบการติดเชื้อจากการรับประทานเนื้อสัตว์ปีกหรือไข่ที่ปรุงสุก ยังไม่พบการติดต่อจากคนถึงคน
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกมีอาการอย่างไร
หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ปวดศรีษะ ปวดเมื่อย เนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ อาจมีน้ำมูก น้ำตาไหล เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว มักมีอาการรุนแรง ทำให้ เกิดปอดอักเสบ ซึ่งสังเกตได้จากอาการหอบหรือหายใจลำบาก และอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลว ซึ่งเสี่ยงต่อ การ เสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 70
ควรดูแลผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกอย่างไร
หากมีผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรืออยู่ในพื้นที่ที่มี โรค ไข้หวัดนก ระบาดอยู่ต้องรีบพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที เพราะต้องได้รับยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมง และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผลการรักษาจึงจะดี
จะดูแลป้องกันไม่ให้เด็กติดโรคไข้หวัดนกได้อย่างไร
เด็กมักมีนิสัยชอบสัตว์เลี้ยง รวมทั้งไก่และนก และหากติดเชื้อไข้หวัดนก มักป่วยรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้นในช่วงที่มีโรคไข้หวัดนกระบาดให้สัตว์ปีก หรือมีไก่ เป็ด ตายมากผิดปกติ พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องระมัดระวัง ดูแลไม่ให้เด็กไปจับต้องสัตว์ปีก โดยเฉพาะสัตว์ป่วยและซากสัตว์ ควรฝึกให้เด็กล้างมือจนเป็นนิสัย เพราะจะช่วย ป้องกันไม่ให้นำเชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี ควรสอนให้เด็กล้างมือทุกครั้งหลังขับถ่าย สั่งน้ำมูก หรือจับ ต้องสัตว์เลี้ยงทุกชนิดและล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ให้เด็กรับประทานเนื้อสัตว์ปีก และไข่ปรุงสุกดีแล้วเท่านั้น เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อ รวมทั้งโรคไข้หวัดนก
จะป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดนกได้อย่างไร
ผู้ทำหน้าที่ทำลายสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ
สวมชุดป้องกัน หรือเสื้อแขนยาวกางเกงขายาว สวมหน้ากากอนามัย ปิดปาก ปิดจมูก ถุงมือยาง แว่นครอบตา และรองเท้าบู๊ท
เมื่อปฏิบัติงานเสร็จต้องรีบล้างมือและอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ทันที ส่วนเสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันต้องนำไปฆ่าเชื้อและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำยาฟอกขาว หรืออาจใช้น้ำผงซักฟอก และผึ่งกลางแดดจัดๆ ให้แห้ง
ผู้ประกอบอาหาร
ไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย มาชำแหละเป็นอาหาร เลือกซื้อเนื้อไก่ เป็ด และไข่ จากแหล่งที่เชื่อถือได้ และ เลือกเนื้อไก่ที่ดูสด ใหม่ ไม่มีจ้ำเลือดออก ส่วนไข่ต้องดูสดใหม่ไม่มีมูลติดที่เปลือก แยกเขียงสำหรับ หั่นเนื้อสัตว์ที่ ปรุงสุกแล้ว รวมทั้งผัก ผลไม้ไว้โดยเฉพาะไม่ใช้เขียงเดียวกันกับเขียงหั่นเนื้อดิบ ระหว่างปรุงอาหารไม่ใช้ มือ จับจมูก ตา ปาก และหมั่นล้างมือบ่อยๆ
หากพบสัตว์ปีกตายผิดปกติจะทำอย่างไร
โดยปกติไก่ เป็ด นก อาจตายจากสาเหตุหลายประการ ทั้งจากสภาวะแวดล้อมและโรคระบาดหลายโรค รวมทั้งโรคไข้หวัดนก หรืออาจถูกวางยาเบื่อ หากสัตว์ปีกเป็นโรคไข้หวัดนก มักมีอาการหงอย ซึม ขนยุ่ง หน้าหงอนเหนียงบวมสีคล้ำ มีจุดเลือดออกตามหน้าแข้งและเครื่องใน ผู้พบเห็นสามารถโทรศัพท์ปรึกษา ในเขต กรุงเทพ มหานครที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมหรือปศุสัตว์ ประจำสำนักงานเขตที่พบเหตุหรือกรมปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4930 ต่างจังหวัดที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรืออำเภอ เทศบาล อบต. ศูนย์บริการถ่ายทอด เทคโนโลยีการเกษตร ประจำ ตำบล และสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง กรณีต้องการเก็บซากเพื่อทำลายหรือส่งตรวจชันสูตร หาสาเหตุ การตาย ต้องไม่จับซากสัตว์ด้วยมือเปล่าควรสวมถุงมือยางหรือถุงพลาสติกหนาๆ ใส่ซากสัตว์ลงในถุงพลาสติก รัดปากถุงให้แน่น นำส่งตรวจที่สำนักงานปศุสัตว์ ถ้าจะฝังซากต้องให้ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างน้อย 30 เมตร และฝังให้ลึกอย่างน้อย 1 เมตร โรยปูนขาวหรือราดน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือราดน้ำเดือดที่ซาก แล้วกลบดินทับให้แน่น หากใช้วิธีเผาก็สามารถฆ่าเชื้อได้เช่นเดียวกัน