20 เมษายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้ทรงคุณวุฒิ โดย นายอนุทินกล่าวว่า วันนี้ได้รับฟังสถานการณ์โควิด 19 ที่ระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค และไม่ได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการติดเชื้อและการได้รับวัคซีน ส่วนกรณีเชื้อสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลและหลายคนวิตกนั้น เป็นธรรมชาติของเชื้อไวรัสที่จะมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา แต่ยังคงเป็นลูกผสมของสายพันธุ์โอมิครอนเดิม และไม่ได้มีความรุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดิม ส่วนกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการป่วยรุนแรงยังคงเป็นกลุ่ม 608 ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับเข็มสุดท้ายนานกว่า 6 เดือน
นายอนุทินกล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 ยังมีความจำเป็นในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยไม่ให้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้สั่งการให้สถานพยาบาลทั่วประเทศและสถานพยาบาลของกรมในสังกัด จัดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 อำนวยความสะดวกประชาชน โดยวัคซีนที่มีในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นชนิด Bivalent ทั้งนี้ อาจารย์แพทย์ที่เป็นคณะกรรมการวิชาการแจ้งว่า สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ในคราวเดียวกัน ซึ่งได้มอบหมายให้เลขาธิการ สปสช.คิดแนวทางสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมารับวัคซีนทั้งโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ เพื่อให้ประชาชนมารับวัคซีนมากขึ้น ส่วนข้อกังวลกรณีจะมีการระบาดของโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่พร้อมกัน ยืนยันว่ามีความพร้อมดูแล ทั้งยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ
“กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลอาการรุนแรงต่างๆ เช่น มีเลือดออกในโพรงจมูกและตาแดง ซึ่งเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้เกิดในทุกคน หรือกรณีคนงานต่างด้าวเสียชีวิตกะทันหัน ตรวจ ATK ผลเป็นบวก แล้วนำไปเชื่อมโยงว่าเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16 เพราะก่อนหน้านี้มีอาการตาแดง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะโควิดไม่ได้ทำให้เสียชีวิตทันที ต้องมีอาการป่วยมาก่อน ได้มอบหมายกรมควบคุมโรคสื่อสารข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น เพื่อลดความตื่นตระหนก” นายอนุทินกล่าว
กรมควบคุมโรคเตรียมวัคซีนให้ทุกกลุ่มเป้าหมาย
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นชัดเจนช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งผู้ป่วยรายใหม่และผู้ป่วยหนักโดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว และจากการที่กองระบาดวิทยาได้ประเมินลักษณะทางระบาดวิทยาของโควิด 19 พบว่ามีความคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ คือ มีการระบาดตามฤดูกาล จึงคาดประมาณได้ว่าอาจมีการระบาดของโควิด 19 สูงขึ้นในช่วงฤดูฝน กระทรวงสาธารณสุขจึงขอให้ประชาชนเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปีก่อนเข้าฤดูฝนซึ่งจะเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก โดยฉีดปีละ 1 เข็ม สามารถใช้วัคซีนชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้โดยให้ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน และไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าใด โดยกรมควบคุมโรคได้มีการจัดเตรียมวัคซีนให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และได้มีการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดโควิด 19 ได้ที่หน่วยบริการตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำหนดไว้ สำหรับสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขใน กทม. ได้แก่ ศูนย์บางรัก โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลสงฆ์ และสถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับคำแนะนำการฉีดใหม่ให้เป็นการฉีดวัคซีนโควิดประจำปี เนื่องจากผลการสำรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประชากรไทยทั้งจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และการศึกษาจากศาสตราจารย์ยง ภู่วรวรรณ พบว่าประชากรไทยส่วนใหญ่ได้มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว จากการติดเชื้อหรือการรับวัคซีน การปรับคำแนะนำจึงเน้นคำแนะนำการฉีดให้เป็นแบบที่เข้าใจง่าย คือ ให้ฉีดวัคซีนโควิดประจำปี โดยขอเน้นให้กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 608 พนักงานบริการหรือผู้ที่มีอาชีพต้องสัมผัสคนเป็นจำนวนมาก หรือผู้อยู่ในสถานที่แออัด เช่น ทัณฑสถาน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เข้ารับวัคซีนประจำปีโดยเร็วเพื่อลดอาการป่วยหนัก เสียชีวิต และรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ ก่อนการระบาดของโควิด 19 ตามฤดูกาล ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปก็สามารถรับวัคซีนโควิดประจำปีได้เช่นเดียวกันตามความสมัครใจ