สิทธิควรรู้กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิกรณีเสียชีวิตดังนี้
- ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย
- ผู้ประกันตนตามมาตรา 38 และมาตรา 41 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตายและได้รับสิทธิคุ้มครองภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
ตาม พรบ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 ผู้ประกันตนที่เสียชีวิตด้วยโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข
สิทธิที่จะได้รับ
1. ค่าทำศพ 50,000 บาท จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 (เดิม ค่าทำศพ 40,000 บาท)
- สามีภรรยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ
- บุคคลอื่นซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ
2. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต
- จ่ายให้แก่บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้เท่านั้น
- หากผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ จะเฉลี่ยจ่ายให้ผู้มีสิทธิในจำนวนที่เท่ากัน ได้แก่ สามี ภรรยา ที่จดทะเบียนสมรสกัน / บิดา มารดา กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะได้เฉพาะมารดา / บุตรของผู้ประกันตน รวมทั้งบุตรบุญธรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย
กรณีเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป จะได้รับเงิน ดังนี้
- ก่อนผู้ประกันตนเสียชีวิต หากมีการส่งเงินสมทบตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี หรือตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือนได้รับเงินสงเคราะห์จำนวนร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนคูณด้วย 4 หรือเท่ากับ 2 เดือน
- ก่อนผู้ประกันตนเสียชีวิต หากมีการส่งเงินสมทบตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หรือไม่น้อยกว่า 120 เดือน ได้รับเงินสงเคราะห์จำนวน ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนคูณด้วย 12 หรือเท่ากับ 6 เดือน
3. เงินบำเหน็จชราภาพ
หากผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพคืนโดยจ่ายให้แก่ ทายาทผู้มีสิทธิ ดังนี้
1. บุตรชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น ให้ได้รับ 2 ส่วน ถ้าผู้ประกันตนที่เสียชีวิต มีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปให้ได้รับ 3 ส่วน
2. สามีหรือภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายให้ได้รับ 1 ส่วน
3. บิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน ที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับ 1 ส่วน (กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะได้เฉพาะมารดา)
4. บุคคลอื่นที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ให้ได้รับ 1 ส่วน ร่วมกับทายาทผู้มีสิทธิ
สำหรับผู้ประกันตนที่เสียชีวิต ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 ตาม พรบ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) เป็นต้นมา
หากผู้ประกันตนไม่มีทายาทผู้มีสิทธิ หรือ ไม่มีบุคคลอื่นตามหนังสือที่ระบุ จะให้สิทธิแก่บุคคลตามลำดับดังนี้
1. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
2. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา
3. ปู่ ย่า ตา ยาย
4. ลุง ป้า น้า อา
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 38, 39 และมาตรา 41 ที่มีสิทธิรับเงินกรณีเสียชีวิต ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ต้องใช้เอกสารในการยื่นเบิกค่าทำศพ ดังนี้
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส.2-01)
2. ใบมรณบัตร พร้อมสำเนา (ใบมรณะบัตรของบิดาและมารดา ของผู้ประกันตนด้วย)
3. หลักฐานจากฌาปนสถานหรือมัสยิดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ (หากทางวัดหรือมัสยิด ไม่มีหลักฐานดังกล่าวสามารถขอรับแบบฟอร์มหนังสือรับรองการเป็นผู้จัดการศพที่สำนักงานประกันสังคมได้)
4. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาของผู้จัดการศพ
5. กรณีเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล
6. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี ของผู้จัดการศพ ใช้ได้ 10 ธนาคาร โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) KTB ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) BAY
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) SCB ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) KBANK ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) TTB ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย IBANK ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) CIMB เดิมคือไทยธนาคาร ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ผู้ประกันตนเสียชีวิตขณะบุตรอายุยังไม่ครบ 6 ปีบริบูรณ์ บุตรยังคงได้รับสิทธิ และเงินสงเคราะห์บุตรจะจ่ายให้แก่ผู้อุปการะต่อไปจนกว่าบุตรจะอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ โดยผู้อุปการะจะต้องนำเอกสารไปยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนที่สำนักงานประกันสังคมที่จ่ายเงินสงเคราะห์บุตรโดยเร็วที่สุด
เอกสารที่ใช้ในการยื่นเรื่อง
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส.2-01)
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้อุปการะ
3. สำเนาสูติบัตร
4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้อุปการะ
5. สำเนาใบมรณะบัตรของผู้ประกันตนที่เสียชีวิต