วันที่ 31 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), เจ้าหน้าที่องค์การตำรวจสากล และ เจ้าหน้าที่สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ทำการตรวจค้น สถานที่เก็บของ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัด กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และประจวบคีรีขันธ์ ดังนี้
- สถานที่เก็บและบรรจุยาลดน้ำหนักเพื่อส่งให้ลูกค้า ในบ้านพักอาศัย ในพื้นที่ ม.8 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จับกุม Mr. Anthonyฯ สัญชาติฟิลิปปินส์ (ผู้ต้องหาตามหมายจับ) ตรวจยึด ยาชุดบรรจุเสร็จ 6 ชุด, ยาไม่มีทะเบียนต้องสงสัยมีส่วนผสมของวัตถุออกฤทธิ์ จำนวน 54,363 เม็ด, ยามีทะเบียน จำนวน 51,500 เม็ด และ อุปกรณ์และเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวม 135 รายการ
- สถานที่เก็บและจัดส่งยาให้ Mr. SHABIR และ Mr. Anthony เพื่อนำมาบรรจุส่งจำหน่ายให้แก่ลูกค้า จำนวน 2 จุด บริเวณบ้านพักในพื้นที่ชุมชนจันทร์เกษม ซ.ประชานฤมิตร ถ.กรุงเทพนนท์ แขวง/เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร จับกุม น.ส.วรัญญา ฯ (ผู้ต้องหาตามหมายจับ) ตรวจยึดยาไม่มีทะเบียนต้องสงสัยมีส่วนผสมของวัตถุออกฤทธิ์ จำนวน 65 เม็ด , ยามีทะเบียน จำนวน 4,200 เม็ด, กล่องพัสดุและซองบรรจุยา ประมาณ 140 ชิ้น และอุปกรณ์และเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวม 17 รายการ
- สถานที่เก็บและจัดส่งยาให้ Mr. SHABIR และMr. Anthony เพื่อนำมาบรรจุส่งจำหน่ายให้แก่ลูกค้า ในบ้านพักอาศัยพื้นที่ หมู่ 7 ต.บางสะพาน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จับกุม น.ส.พรเพ็ญ ฯ (ผู้ต้องหาตามหมายจับ) ตรวจยึด ยาไม่มีทะเบียนต้องสงสัยมีส่วนผสมของวัตถุออกฤทธิ์ จำนวน 16,160 เม็ด, ยามีทะเบียน 920 เม็ด, แคปซูลเปล่าพร้อมบรรจุ 90,500 แคปซูล, วัตถุดิบและอุปกรณ์ในการผลิตยา รวมถึงกล่องพัสดุและซองบรรจุยา กว่า 500 ชิ้น รวมถึงอุปกรณ์และเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหมด 47 รายการ
รวมตรวจค้น 6 จุด ตรวจยึด ยาที่มีส่วนผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) กว่า 2,000 เม็ด, ยาไม่มีทะเบียนต้องสงสัยว่าผสมของวัตถุออกฤทธิ์ฯ จำนวน 104,000 เม็ด, ยามีทะเบียน จำนวน 149,000 เม็ด, ยาชุดลดน้ำหนักพร้อมส่งให้กับลูกค้า 26 ชุด ประมาณ 5,400 เม็ด, แคปซูลเปล่าคละสี จำนวน 90,500 แคปซูล, กล่องพัสดุและซองยาสำหรับส่งให้ผู้บริโภค ประมาณ 10,000 ชิ้นและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาลดน้ำหนัก รวมถึงพยานหลักฐานอื่น รวม 272 รายการ มูลค่ากว่า 6,000,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เก็บตัวอย่างยาของกลางที่ตรวจยึดในแต่ละจุดส่งตรวจ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
พบสาร "ไซบูทรามีน" ผสมอยู่ในของกลาง
วันที่ 2 มิถุนายน 2566 ได้รับผลตรวจวิเคราะห์ของกลางที่ตรวจยึดจาก Mr. SHABIRฯ พบว่ามี "ไซบูทรามีน" ผสมอยู่ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2566 จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในข้อหา "ร่วมกันจำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อทางการค้าและร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์และยารวมกันหลายขนาน โดยจัดเป็นชุดไว้ล่วงหน้า เพื่อประโยชน์ทางการค้า" ส่วนยาของกลางที่ตรวจยึดจากจุดอื่นๆ อยู่ระหว่างรอผลตรวจ หากพบวัตถุออกฤทธิ์ผสมอยู่ จะเรียกมาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป
ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดย Mr. SHABIRฯ และ Mr. Anthony ฯ ให้การรับว่า Ms. GAUKHAR หรือมาเรีย คิม เป็นผู้สั่งการ ให้ตนทำการบรรจุยาและส่งให้ลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000-25,000 บาท ส่วน น.ส.วรัญญา ฯ และ น.ส.พรเพ็ญฯ ให้การรับว่า Ms. GAUKHARฯ ได้สั่งซื้อ ยาลดน้ำหนักและผลิตภัณฑ์ยาอื่นๆ จากตน เมื่อได้รับออเดอร์ ก็จะไปจัดหายาตามแหล่งขายต่างๆ และจัดส่งให้กับ Mr. SHABIRฯ และ Mr. Anthonyฯ โดยผลตอบแทนที่ได้จากการหาซื้อยาลดน้ำหนักจะบวกกำไรจากยอดสั่งซื้อในแต่ละครั้ง
ส่งขายทั่วโลก 34 ประเทศ
การทลายเครือข่ายดังกล่าวพบว่า มีการส่งยาลดน้ำหนักไปขายต่างประเทศรวมกว่า 34 ประเทศ มากกว่า 600 ครั้ง เช่น สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, อังกฤษ, จีน และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ มกราคม-มีนาคม 2566 เครือข่ายยาลดน้ำหนักดังกล่าว มียอดเงินหมุนเวียนในบัญชี กว่า 3 ล้านบาท โดย Ms. GAUKHARฯ หรือมาเรีย คิม ผู้ต้องหาตามหมายจับ ยังเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าหน้าที่ได้ประสานไปยังองค์กรตำรวจสากล เพื่อประสานการจับกุมตัวมาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ลักลอบสั่งซื้ออำพรางผ่านสถานพยาบาล
จากการตรวจค้นห้องพัก Mr. SHABIR ฯ ผู้ต้องหา พบพยานหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินของสถานพยาบาลยันฮีคลินิกเวชกรรม จำนวนมาก จึงทำการสืบสวนขยายผลถึงแหล่งที่มาของยาลดน้ำหนัก พบว่า Ms.GAUKHARฯ ได้ว่าจ้างให้เอเย่นชาวไทยเปิด OPD กับทางสถานพยาบาลเพื่อให้ได้ เลขประจำตัวผู้ป่วย (เลข HN) ในนามของ Ms.GAUKHAR ฯ จากนั้นจะให้ Mr. SHABIRฯ โทรสั่งซื้อยาลดน้ำหนักจากสถานพยาบาล โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลนำยามาให้ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมด Ms.GAUKHAR ฯ ไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจรักษาแต่อย่างใด เมื่อกลุ่มผู้ต้องหารับยาลดน้ำหนักจากสถานพยาบาลยันฮีคลินิกเวชกรรม แล้ว ผู้ต้องหาจะนำไปจัดเป็นชุดและส่งขายต่อให้ผู้บริโภคอีกทอด
วันที่ 21 เมษายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับคณะกรรมการอาหารและยา(อย.), กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และองค์การตำรวจสากล จึงร่วมกันเข้าตรวจสอบสถานพยาบาล ยันฮีคลินิกเวชกรรม และตรวจยึด เอกสารประวัติการเข้ารักษาเลขประจำตัวผู้ป่วย (เลข HN) ระบุชื่อ Mrs.GAUKHARฯ ซึ่งพบว่า ประวัติการเข้ารักษา มีการสั่งจ่ายยากลุ่มสมุนไพรและยาแผนปัจจุบันให้ผู้ป่วยตั้งแต่ ปี 2557 – 2566 จำนวน 113 ครั้ง (ปี 2565 จำนวน 78 ครั้ง, ปี 2566 จำนวน 20 ครั้ง) ซึ่งเป็นการจ่ายยาที่มีความถี่สูง และมีจำนวนปริมาณยาที่มากผิดปกติ กว่าการจ่ายยาให้ผู้ป่วยเฉพาะราย
เอาผิดแพทย์สั่งจ่ายยาและสถานพยาบาล
และจากการตรวจสอบรายชื่อแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาแผนปัจจุบันให้แก่กลุ่มผู้ต้องหา พบว่า แพทย์ผู้สั่งจ่ายยาเป็นแพทย์แผนจีน ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถจ่ายยาแผนปัจจุบันให้แก่ผู้ป่วยได้ จึงได้ตรวจยึดยาไม่มีทะเบียน และพยานหลักฐานอื่น รวม 15 รายการ ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฐาน "ร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต" โดยพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดได้แก่ ผู้ดำเนินกิจการสถานพยาบาลของ ยันฮีคลินิกเวชกรรม และแพทย์แผนจีนที่สั่งจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยต่อไป