21 มิถุนายน 2566 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขออก พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 เพื่อขับเคลื่อนให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นธรรม การขับเคลื่อนต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน สอดคล้องกับเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดคือ “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง” ด้วยนโยบายที่สำคัญคือ การให้ประชาชนเข้าถึงบริการปฐมภูมิที่สะดวกและรวดเร็ว โดยใช้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในระบบการให้บริการ เช่น Telemedicine, Telehealth ทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลสุขภาพของตัวเอง โดยจัดตั้งสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานภาพรวมกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อน
นายอนุทินกล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางการรับฟังความคิดเห็นตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้รับบริการ หน่วยบริการปฐมภูมิ เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริม ปรับปรุง และพัฒนาการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิและระบบสุขภาพปฐมภูมิให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ได้มีมติให้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับฟังความคิดเห็นจากผู้รับบริการ หน่วยบริการปฐมภูมิ เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ และผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ และระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2564 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 โดยได้เห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) เค้าโครงการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และได้มอบหมายให้สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น พร้อมจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเสนอต่อคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งต่อไป
สำหรับวิธีการเก็บข้อมูล จะใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปและผู้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ ในประเด็นความพึงพอใจต่อการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ 6 ด้าน ได้แก่
1.ด้านเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรที่ให้บริการ (แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ)
2.ด้านกระบวนการหรือขั้นตอนการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ
3.ด้านช่องทางการติดต่อสื่อสาร
4.ด้านสถานที่ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวก
5.ด้านระบบสารสนเทศ และ
6.ด้านคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิ
พร้อมทั้งสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ และความคาดหวังต่อการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งทราบว่า มีกรรมการบางท่านในคณะอนุกรรมการ ต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง จึงเห็นควรให้มีการปรับองค์ประกอบกรรมการ ในคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม