อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงโครงการนี้ว่า การขับเคลื่อนชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและผู้พิการได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ นำไปขับเคลื่อนงานทั่วประเทศ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานสำคัญที่ขับเคลื่อนและบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย โดยกรมอนามัยได้ดำเนินการสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพภายใต้การบริการชุมชนและบริการสุขภาพ กิจกรรมด้านสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลอาหารและน้ำ การส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ การสื่อสารด้านสุขภาพ ส่งเสริมการยอมรับยกย่องในสังคม และมาตรฐานส้วมสาธารณะ
กรมอนามัยจึงได้เชิดชูเกียรติหน่วยงานที่มีการขับเคลื่อนและพัฒนา การดำเนินงานชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและผู้พิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ผ่านการประชุมครั้งนี้ โดยมอบป้ายและตราสัญลักษณ์พื้นที่ดำเนินการทั้งสิ้น จำนวน 79 แห่ง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1) หน่วยงานที่ได้รับการรับรองชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและผู้พิการ ที่ผ่าน 8 องค์ประกอบ จำนวน 31 แห่ง และ 2) หน่วยงานที่มี การขับเคลื่อนงานชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและผู้พิการ ที่ผ่าน 1 - 7 องค์ประกอบ จำนวน 48 แห่ง โดยแบ่งเป็นเทศบาลนคร จำนวน 5 แห่ง เทศบาลเมือง จำนวน 13 แห่ง เทศบาลตำบล จำนวน 38 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 20 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 2 แห่ง และองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จำนวน 1 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการจากพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานเชิงประจักษ์ด้านชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและผู้พิการอีกด้วย
ทางด้าน นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวเสริมว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการขับเคลื่อนชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและผู้พิการทั่วประเทศ โดยได้บูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีบทบาท ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย พร้อมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการขั้นพื้นฐาน รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดความปลอดภัย เช่น การปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ การปรับปรุงถนน และการจราจร รวมทั้งการปรับปรุงที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุและผู้พิการให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม