20 กันยายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 9/2566 โดยก่อนการประชุมมีพิธีมอบโล่และกล่าวแสดงมุทิตาจิตแก่ผู้บริหารระดับสูงที่เกษียณอายุราชการในปีนี้ จำนวน 6 คน จากทั้งหมด 12 คน
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการเร่งรัดดำเนินงานตามนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อเป้าหมาย “ประชาชนคนไทยสุขภาพดี ประเทศไทยสุขภาพดี” ผ่าน 13 ประเด็น ให้เห็นเป็นรูปธรรมใน 100 วันแรก หรือ Quick Win ได้แก่
1) โครงการพระราชดำริฯ โครงการเฉลิมพระเกียรติ และโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ จะคัดกรองมะเร็งในผู้ต้องขังทุกคน, พัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบ และผลักดันสุขศาลาพระราชทานให้ผ่านการรับรองคุณภาพบริการทุกแห่ง
2) โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาลและปริมณฑล จะจัดตั้งโรงพยาบาลขนาด 120 เตียงในเขตดอนเมือง
3) สุขภาพจิต/ยาเสพติด จะตั้งศูนย์ธัญญารักษ์ทุกจังหวัด (มินิธัญญารักษ์) มีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด และกลุ่มงานจิตเวชทุกอำเภอ
4) มะเร็งครบวงจร จะฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยอายุ 11-20 ปี จำนวน 1 ล้านคน เริ่มในเดือนตุลาคมนี้, มีการคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับ จำนวน 1 แสนคน และมี Cancer Warrior ทุกจังหวัด
5) การสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร จะสร้างทีม Care D+ หรือทีมดีต่อใจทุกหน่วยบริการ ช่วยให้ความรู้ความเข้าใจ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างญาติและผู้ให้บริการ, ผลักดันการบรรจุและการกำหนดตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ และการยกเว้นให้แพทย์ได้รับการเลื่อนเงินเดือนระหว่างลาศึกษาต่อ
6) การแพทย์ปฐมภูมิ จะพัฒนาการตรวจเลือด รับยา เทเลเมดิซีนใกล้บ้าน 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล, มีงานอนามัยโรงเรียน 1 อำเภอ 1 โรงเรียน
7) สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ มีการขึ้นทะเบียนเบิกจ่ายเรียลไทม์ในบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และลงทะเบียนเพิ่มการเข้าถึงการบริการในกลุ่มประชากรเฉพาะ
8) สถานชีวาภิบาล มีการจัดตั้งจังหวัดละ 1 แห่ง ตั้ง Hospital at Home หรือ Homeward จังหวัดละ 1 แห่ง และมีคลินิกผู้สูงอายุครบทุกโรงพยาบาล
9) พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่ายมีการจัดทำแผนพัฒนา เพิ่มศักยภาพการวินิจฉัยโรคด้วย CT Scan และ MRI
10) ดิจิทัลสุขภาพ สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ (One Card Smart Hospital) นำร่อง 4 เขตสุขภาพ ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1 ภาคเหนือตอนบน เขตสุขภาพที่ 4 ภาคกลาง เขตสุขภาพที่ 9 ภาคอีสานตอนใต้ และเขตสุขภาพที่ 12 ภาคใต้ตอนล่าง, มีโรงพยาบาลอัจฉริยะ 200 แห่งทั่วประเทศ และพัฒนา Virtual Hospital 1 แห่ง
11) ส่งเสริมการมีบุตร จะผลักดันเข้าสู่วาระแห่งชาติเพื่อบูรณาการทุกภาคส่วน มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรจังหวัดละ 1 แห่ง และคัดกรองโรคหายากในทารกแรกเกิด 24 กลุ่มโรค
12) เศรษฐกิจสุขภาพ จะพัฒนาชุมชนสุขภาพดี หรือ Blue Zone เขตสุขภาพละ 1 แห่ง, ขึ้นทะเบียน Wellness Center 500 แห่ง, อนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน 100 รายการ สร้างงานสร้างอาชีพ เช่น นวดไทย Caregiver Care Assistant
13) นักท่องเที่ยวปลอดภัย จะมี Safety Tourist เขตสุขภาพละ 1 แห่ง และมี Sky Doctor ทุกเขตสุขภาพ ทั้งนี้ จะมีการเลือก Quick Win เด่นที่ดำเนินการได้เห็นผลชัดเจน นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อประกาศต่อประชาชนเป็น Quick Win ของรัฐบาลต่อไป