โรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารทะเลที่มีพิษนั้นพบได้บ่อย เนื่องจากความนิยมบริโภคอาหารทะเล แต่ภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ทำให้เกิดความเป็นพิษในห่วงโซ่อาหาร (food chain) และที่สุดก็ทำให้เกิดเป็นพิษในคน พิษจากการรับประทานอาหารทะเลหลายครั้ง เกิดในคนหมู่มากและบางครั้งรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะประชาชนที่นิยมบริโภคแมงดาทะเล
แมงดาทะเล (Horseshoe crab) เป็นสัตว์โบราณที่พบได้ชุกชุมทั่วไปในอ่าวไทย ทั้งฝั่งทะเลด้าน จังหวัดชุมพร ถึงจันทบุรี แมงดาทะเลชอบอาศัยหมกตัวอยู่ตามพื้นโคลน หรือทรายตามชายฝั่งน้ำตื้น บริเวณอ่าว และปากน้ำ
ฤดูวางไข่ของแมงดาทะเลเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงกันยายน ฤดูนี้แมงดา จะชุกชุมและมีไข่ ซึ่งคนชอบรับประทาน
ไข่แมงดา มักนิยมนำมาทำเป็น อาหารคาว เช่น ยำไข่แมงดาทะเล แกงคั่วสับประรด เป็นต้น หรือบางครั้งทำเป็นของว่าง เช่น เชื่อมน้ำตาล
แมงดาทะเลมี 2 ชนิด
คือ
1.แมงดาจาน หรือแมงดาทะเลหางเหลี่ยม ไม่มีพิษ รับประทานได้ มีขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย
2.แมงดาถ้วย ซึ่งมีชื่อเรียกหลายชื่อได้แก่ แมงดาทะเลหางกลม หรือเห-รา หรือแมงดาไฟ จะมีพิษ รับประทานไม่ได้ ตัวมีสีส้มหรือน้ำตาลเข้ม ขนาดเล็กกว่าแมงดาจาน อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามคลองในป่าชายเลน
ซึ่งแมงดาถ้วยมีพิษที่ชื่อ เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) และเซซิทอกซิน (Sasitoxin) ชนิดเดียวกับปลาปักเป้า เป็นพิษที่เกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ของแมงดาถ้วย หรือเกิดจากการกินตัวแพลงก์ตอนที่มีพิษหรือกินหอยหรือหนอนที่มีแพลงตอนพิษ ทำให้สารพิษไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ จึงขอย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการกินไข่แมงดาในช่วงนี้
อาการแสดงเมื่อได้รับพิษ
สำหรับผู้ได้รับพิษจากแมงดาทะเล อาการมักจะแสดงภายหลังรับประทานประมาณ 10 - 45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับแหล่งที่อยู่อาศัยของแมงดา ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ เช่น รับประทานไข่แมงดาถ้วย อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ
อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชาบริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจาก มือ แขน ขา ตามลำดับ รวมทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางราย อาจมีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด
ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงาน ระบบหายใจล้มเหลว หมดสติ และสมองขาดออกซิเจน หากช่วยไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 - 24 ชั่วโมง
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สำหรับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากได้รับพิษ ให้ผู้ปฐมพยาบาลทำให้ผู้ป่วยหายใจคล่องที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการผายปอดจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล ห้ามให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารน้ำหรือยา เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการสำลักได้
คำแนะนำการเลือกรับประทาน
เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ขอแนะนำการเลือกรับประทานแมงดาทะเล ไว้ดังนี้
สำหรับผู้บริโภค
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแมงดาทะเล
- หากต้องการรับประทานขอให้เลือก แมงดาจาน โดยให้สังเกตลักษณะของหางตามที่กล่าวข้างต้น
- งดรับประทานไข่แมงดาทะเลที่อยู่ในลักษณะบรรจุหีบห่อโดยไม่เห็นตัวและหางของแมงดาโดยเด็ดขาด เพราะเราไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าเป็นแมงดาชนิดไหน หรืออาจมีไข่แมงดาถ้วยปะปนอยู่ในไข่แมงดาจานหรือไม่
สำหรับพ่อค้าแม่ค้า ผู้จำหน่าย
- ขอให้งดจำหน่ายไข่แมงดาทะเลหากไม่แน่ใจว่าเป็นไข่ที่มาจากแมงดาชนิดใด
- ขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการแยกชนิดพันธุ์แมงดาทั้ง 2 ชนิดจากลักษณะภายนอกให้แน่ชัดก่อนนำมาขายให้ผู้บริโภค
- หากพบแมงดาถ้วย หรือ เหรา ปะปนเข้ามาให้คัดทิ้งทันที
- กรณีท่านไม่สามารถแยกความแตกต่างของแมงดาทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ได้ ไม่ควรนำมารับประทาน
ที่มา: กลุ่มเผยเเพร่เเละประชาสัมพันธ์ กรมประมง
: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
: สสจ.จันทบุรี