ความดันโลหิตสูง
สาเหตุ ของความดันโลหิตสูง อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่
- พวกที่เราหาสาเหตุได้ เช่น จากโรคไตอักเสบ เส้นเลือดแดงตีบ พิษแห่งครรภ์ เป็นต้น
- พวกที่หาสาเหตุไม่พบ ผู้ป่วยความดันโลหิตส่วนมากมักจะเป็นชนิดนี้
บุคคลประเภทใดที่มักจะเป็นความดันโลหิตสูง
- ส่วนมากมักพบได้ในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุตั้งแต่ 40 – 50 ปี ขึ้นไป
- พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวัยหมดประจำเดือนพบได้บ่อย
- พบมากในคนอ้วน แต่คนผอมก็พบบ้างเหมือนกัน
- อาจเนื่องมาจากกรรมพันธุ์ประมาณ 30 – 40 %
- ในบุคคลที่มีอารมณ์รุนแรง เคร่งเครียด ตื่นเต้น ตกใจง่าย ดีใจง่าย เสียใจง่าย อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอาจจะกระตุ้นให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราวในตอนแรก แล้วจะค่อยลดลงเอง แต่ถ้าเกิดบ่อยและนานเข้าความดันโลหิตก็จะสูงอย่างถาวรเลย ซึ่งถ้าสูงมากก็เป็นอันตรายได้
อาการ
ผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ระยะเริ่มแรกส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยการตรวจเช็คสุขภาพประจำปี หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นแล้วแพทย์วัดความดันของเลือด พบว่าผิดปกติ สำหรับรายที่มีอาการจะมีอาการมึนงง ตาพร่ามัว ปวดศีรษะตรงท้ายทอย มักจะปวดตอนตื่นนอน เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย บางรายเลือดกำเดาออกบ่อย ๆ อาการดังกล่าวอาจเกิดจากโรคอื่นได้อีกหลายโรค และที่สำคัญที่สุดความดันโลหิตสูงบางรายอาจไม่มีอาการใดเลยก็ได้ นอกจากตรวจวัดด้วยเครื่องมือแพทย์จึงจะทราบ ฉะนั้นถ้าท่านสงสัยว่าเป็นโรคนี้หรือท่านที่มีอายุเกิน 35 ปี ควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 – 2 ครั้ง
การปฏิบัติตัว
ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ เพื่อรักษาให้ความดันเลือดลดมาอยู่ในเกณฑ์ปกติและเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น หัวใจโตหรือการไหลเวียนของเลือดในไตน้อยลง หลอดเลือดในสมองแข็ง และเปราะ ฯลฯ การรักษาความดันโลหิตสูงต้องเป็นการรักษาของแพทย์ที่จะตรวจและให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัว การใช้ยา แต่ผู้ป่วยก็ต้องปฏิบัติตัวเพื่อช่วยให้ความดันโลหิตลดลงได้ง่ายขึ้น คือ
- การพักผ่อนต้องพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ พยายามควบคุมอารมณ์และจิตใจไม่ให้ตึงเครียด ขุ่นมัวและวู่วาม
- คนอ้วน ควรลดน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ระวัง รักษาตัวเอง อย่าให้หกล้มหรือศีรษะกระทบกระแทก เพราะอาจจะทำให้หลอดเลือดโลหิตในสมองแตก เป็นอัมพาตได้
- ไม่ควรวิตกกังวลหรือให้ความสำคัญกับระดับความดันโลหิตที่วัดได้ แต่ละครั้งเนื่องจากความดันโลหิตในบุคคลเดียวกันเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ตามสภาวะแวดล้อมต่างๆ ในแต่ละวัน ควรให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินว่าระดับความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลง มีความสำคัญอย่างไรหรือไม่
- ควบคุมอาหาร
การจัดการอาหารสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
การจัดการอาหาร สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ในสมัยก่อนแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ Dr. Kempner ได้จัดอาหารให้ผู้ป่วยรับประทานที่ประกอบด้วยข้าวและผลไม้เท่านั้น ปรากฏว่าอาหารชนิดนี้ถึงแม้ว่าจะช่วยให้ความดันโลหิตลดลงอย่างเป็นที่น่าพอใจ แต่ผู้ป่วยก็เบื่อที่จะรับประทานซ้ำ จำเจ วนเวียนอยู่กับข้าวและผลไม้ ดังนั้นในรายหลังๆ ก็มีการดัดแปลงเรื่องอาหารที่ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้
- หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด เพราะเกลือทำให้ความตึงตัวของผนังหลอดโลหิตแดงเพิ่มขึ้น ทำให้ความดันเลือด Diastolic สูงขึ้น
- อาหารพวก เนื้อสัตว์ ไข่ นม และถั่วเมล็ด ซึ่งเป็นอาหารพวกโปรตีน ถ้าไตทำหน้าที่ได้ตามปกติก็ไม่ต้องลดลง แต่ถ้ามีอาการทางไตแทรกซ้อน ต้องลดโปรตีน
- อาหารไขมัน อยู่ในระดับกลางค่อนข้างต่ำ ควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์และพวกกะทิ
- อาหารหวานจัด เช่น ขนมหวาน ทุกชนิด พยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด เพราะจะทำให้น้ำหนักตัวและระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น
- เครื่องดื่มต่างๆ เช่น ชา กาแฟ ซึ่งมีสารคาเฟอีนสูง กระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น สูบฉีดโลหิตแรงขึ้น เป็นอันตรายสำหรับผู้มีความดันโลหิตสูง
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว การไหลเวียนของโลหิตเร็วและแรงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักและแรงดันโลหิตจะพุ่งสูงขึ้น นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งควรงดเด็ดขาดและงดสูบบุหรี่
สรุป
การจัดอาหารสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ถ้าน้ำหนักตัวมากกว่าปกติจะต้องลดลงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติก็ต้องระวังไม่ให้เพิ่มมากขึ้น ชนิดของอาหารทีไม่มีไขมันและแป้ง น้ำตาลมากรส อาหารค่อนข้างจืดจะเติมเกลือ ซอสหรือน้ำปลาได้บ้างควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัดทุกชนิด รวมทั้งอาหารที่เก็บถนอมโดยการใช้เกลือ เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักดองเค็ม หมูแฮม เบคอน และขนมปังเค็มชนิดต่างๆ