นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาว่า กรม สบส. เน้นย้ำให้โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกทุกแห่ง แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการ และสิทธิของผู้ป่วย ณ จุดบริการให้ผู้รับบริการเห็นได้อย่างให้ชัดเจน พร้อมตั้งจุดบริการให้ประชาชนสอบถามอัตราค่าบริการ
ประการสำคัญ บุคลากรของสถานพยาบาล จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วย หรือญาติให้ชัดเจน มีการชี้แจงรายละเอียดอย่างตรงไปตรงมา
สถานพยาบาล / คลินิก ต้อง เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบอัตราค่ารักษาพยาบาล อย่างเปิดเผย โปร่งใส ชัดเจน ซึ่งสามารทำได้ด้วย รูปแบบต่างๆ เช่น การแสดง QR Code อัตราค่ารักษาพยาบาลในแต่ละแผนก หรือตั้งจุดสอบถามอัตราค่าบริการ เพื่อช่วยลดความเข้าใจผิด หรือข้อเคลือบแคลงต่ออัตราค่ารักษาพยาบาล หรือแสดงผ่านเว็บไซต์ หรือเพจเฟซบุ๊คของสถานบริการนั้น
ฐานความผิดและบทลงโทษ
ในกรณี ที่กรม สบส.ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาล ของสถานพยาบาลเอกชน พนักงานเจ้าหน้าที่ จะดำเนินการตรวจสอบในประเด็นการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติ สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ใน 3 ประเด็น ได้แก่
- โรงพยาบาลมีการแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆและสิทธิของผู้ป่วยให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ และจัดให้มีจุดสอบถามอัตราค่าบริการหรือไม่
- โรงพยาบาลเก็บค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆ เกินกว่าราคาที่แสดงหรือไม่
- แพทย์ผู้ให้บริการ มีการวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจพบว่าโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกแห่งใดไม่ติดป้ายแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆและสิทธิของผู้ป่วย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากเรียกเก็บค่ารักษาเกินอัตราที่แสดง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ หากประชาชน พบเห็นสถานพยาบาลเอกชนแห่งใด ไม่จัดแสดงค่าบริการให้ชัดเจน หรือเรียกเก็บค่ารักษาเกินอัตราที่แสดง ณ สถานพยาบาล สามารถแจ้งได้ที่ กรม สบส.หมายเลขโทรศัพท์ 02-1937000 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป