นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หลังมีการคิกออฟตามนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 ในระยะแรก 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ล่าสุด ข้อมูลณ วันที่ 19 มกราคม 2567 มีบริษัทที่พัฒนาระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) สามารถเชื่อมโยงข้อมูลประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (PHR) ได้ 29 บริษัท อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 บริษัท ทั้ง 4 จังหวัดสามารถเชื่อมโยงข้อมูล PHR และข้อมูลเบิกจ่ายกับกองทุนสุขภาพได้ครบทุกแห่ง บุคลากรทางการแพทย์ 4 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และเทคนิคการแพทย์ ยืนยันตัวตน (Provider ID) ทั้งประเทศ 26,276 คน และมีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) 7,549 คน
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ในภาพรวมหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ผ่านเกณฑ์ประเมินโรงพยาบาลอัจฉริยะแล้ว 828 แห่ง (91.8%) มีการเชื่อมโยงข้อมูล PHR 894 แห่ง (99.1%) ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล 761,673 ใบ ให้บริการระบบการแพทย์ทางไกล/เภสัชกรรมทางไกลผ่านหมอพร้อมสเตชั่น 53,201 ครั้ง เปิดบริการนัดหมายออนไลน์ผ่านหมอพร้อมสเตชั่น 331 แห่ง (36.7%) โดยแพร่เปิดครบ 100% เพชรบุรี 75% ร้อยเอ็ด 80% และนราธิวาส 69.2% ให้บริการส่งยาและเวชภัณฑ์ผ่าน Health rider 44 แห่ง ใน 13 จังหวัด เฉพาะ 4 จังหวัดนำร่อง มี 29 แห่ง (59.2%) ส่งยาด้วยไรเดอร์ อสม. 1,257 รอบวิ่ง ขณะที่การเบิกจ่ายผ่านระบบศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub) มีการรับข้อมูลจากหน่วยบริการในสังกัด สป.สธ. 902 แห่ง รวม 154 ล้านรายการ เฉพาะ 4 จังหวัดนำร่องมี 44 แห่ง รวม 117,109 รายการ
“จากการตั้งคณะทำงานติดตามปัญหาอุปสรรคต่างๆ พบว่า เรื่องระบบบริการยังไม่มีปัญหาที่ชัดเจน โดย จ.แพร่ ได้รับเสียงชื่นชมค่อนข้างดีจากประชาชนในพื้นที่ ด้านอุปกรณ์ Hardware และ software ที่บางแห่งยังไม่ได้อัปเกรด เช่น รพ.สต. พื้นที่กำลังดำเนินการแก้ไขให้สามารถรองรับการบริการได้ รวมทั้งปัญหาเชิงเทคนิคที่พบในบางจุดของบางพื้นที่ ผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการแก้ไขเช่นกัน” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ คือ 1.เชื่อมโยงข้อมูลบริการด้านสาธารณสุขหน่วยงานภาครัฐ ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ภาครัฐอื่น และภาคเอกชน บน Digital Health Platform ของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งจัดให้มี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล และการเชื่อมโยงข้อมูลบริการด้านสาธารณสุข เพื่อให้มีกฎหมายที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลบริการด้านสาธารณสุข และมีกลไกในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการรักษาความลับและความปลอดภัย ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ 2.ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนระยะที่ 2 ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว และพังงา วันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงแรม รามาการ์เด้นส์ 3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เพื่อบูรณาการจัดทำแนวทางเชื่อมโยงระบบข้อมูล กำกับ ติดตาม และแก้ไขปัญหาอุปสรรค และ 4.เร่งอัปเกรด Hardware และ software ให้รองรับการบริการในหน่วยบริการสาธารณสุขได้อย่างเพียงพอ