แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สูญเสียพื้นที่กลางเมืองที่มีมูลค่าสูงไปเพื่อจอดรถยนต์และถนน แทนที่จะเอาไปทำอย่างอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้การจราจรติดขัด อีกทั้งยังนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ มีมลพิษทางเสียงและอากาศ ทำลายบรรยากาศของความเป็นมิตรต่อการเดินเท้า แต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการมีที่จอดรถยังชนะข้อเสียอื่น ๆ อยู่มาก พื้นที่กลางเมืองจึงมีทั้งที่จอดรถสาธารณะที่เมืองเป็นผู้จัดหาให้และในอาคารต่าง ๆ ก็ยังมีที่จอดรถอยู่มากทีเดียว
แต่ในปัจจุบัน รถยนต์ส่วนตัวกำลังถูกมองว่าเป็นต้นทางแห่งปัญหามลภาวะต่าง ๆ ในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อปัญหาต่อพื้นที่ศูนย์กลางเมืองที่เป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญ มีกิจกรรมต่าง ๆ อยู่มากมาย มีการกระจุกตัวของประชากรมาก เมืองต่าง ๆ จึงหันมาส่งเสริมการใช้ขนส่งมวลชนเข้าและออกจากศูนย์กลางเมืองเพื่อลดปัญหาต่าง ๆ อันเกิดจากการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองสำคัญต่าง ๆ ในภาคพื้นยุโรปได้ใช้มาตรการยกเลิกหรือลดจำนวนที่จอดรถยนต์ส่วนตัวลง ทำให้การใช้รถยนต์ส่วนตัวมีความสะดวกลดลงและมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และจะช่วยให้พื้นที่ศูนย์กลางเมืองมีรูปแบบที่เป็นมิตรกับมนุษย์มากกว่าเป็นมิตรกับรถยนต์
เช่น เมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ ได้ยกเลิกที่จอดรถสาธารณะทั้งหมดประมาณ 700 ที่จอดซึ่งอยู่บนถนนในย่านศูนย์กลางเมือง นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการสร้างจักรยานเพิ่มเติม ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น ส่วนเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็มีแนวทางแบบเดียวกัน โดยมีเป้าหมายจะยกเลิกที่จอดรถให้ได้ประมาณ 11,200 คันในปี 2025 โดยจะลดที่จอดรถให้ได้ประมาณปีละ 1,500 คัน ที่จอดรถที่ถูกยกเลิกไปจะถูกแทนที่ด้วยต้นไม้ ที่จอดจักรยาน และขยายทางเท้าให้กว้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรของประชาชน ส่วนรถยนต์จะถูกผลักดันด้วยมาตรการต่าง ๆ ให้ไปจอดในอาคารมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย ทราบไหมว่าผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2549 ได้พยายามส่งเสริมให้อาคารต่าง ๆ สร้างที่จอดรถสาธารณะเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน โดยใช้มาตรการสร้างแรงจูงใจว่าในรัศมี 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า ถ้าอาคารหลังใดสร้างที่จอดรถสาธารณะให้ประชาชนนำรถยนต์มาจอดได้ฟรี จะสามารถสร้างพื้นที่อาคารได้เพิ่มเติมกว่าที่กฎหมายกำหนดได้อีก 30 ตารางเมตร ต่อที่จอดรถ 1 คันที่สร้างเพิ่มให้จอดฟรี (แต่ไม่เกิน 20% ของขนาดพื้นที่มากที่สุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้) โดยมีเป้าหมายอยู่ที่สถานีชานเมือง 8 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานีอ่อนนุช สถานีลาดกระบัง สถานีหัวหมาก สถานีบางบำหรุ สถานีตลิ่งชัน สถานีอุดมสุข และสถานีแบริ่ง แต่น่าเสียดายว่ามาตรการนี้ออกมาใช้เป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว ยังไม่มีอาคารใดยื่นขอรับมาตรการดังกล่าวเลย จากการพูดคุยกับบริษัทพัฒนาที่ดินทั้งหลายต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาไม่ต้องการให้ใครมาใช้พื้นที่ของเขาฟรี ๆ โดยที่เขายังต้องรับผิดชอบความปลอดภัยต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีการสั่งการเร่งรัดแผนการก่อสร้าที่จอดรถใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนร่วมลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่มีรถยนต์และประชาชนสัญจรเป็นจำนวนมาก เช่น ศูนย์การค้า สถานีรถไฟฟ้า สถานที่ราชการ สถานศึกษา เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า นโยบายเรื่องที่จอดรถยนต์ของประเทศไทยกับต่างประเทศแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมืองสำคัญต่าง ๆ ในโลกพยายามสร้างพื้นที่ศูนย์กลางเมืองที่เป็นมิตรกับมนุษย์มากกว่ารถยนต์ จึงลดที่จอดรถสาธารณะบนพื้นผิวการจราจรลง ย้ายที่จอดรถไปอยู่ในอาคารมากขึ้น แต่สำหรับกรุงเทพมหานคร ยังมีถนนสาธารณะที่สามารถจอดรถยนต์โดยเสียค่าจอดให้กับ กทม. อยู่ถึง 66 เส้นทาง ส่วนถนนอื่น ๆ ก็ยังจอดได้โดยอิสระ เว้นแต่บริเวณที่ห้ามจอดรถเท่านั้น ทางเท้าและทางจักรยานที่ดี รวมถึงการมีพื้นที่เมืองที่เป็นมิตรกับมนุษย์จึงยังห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มากทีเดียว
ดร.พนิต ภู่จินดา
บทความนี้เผยแพร่บนเว็บไซด์ Rabbit Today เมื่อปี 2019