ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกไร้พรมแดน สินค้าและบริการต่าง ๆ สามารถเคลื่อนที่ไปทั่วโลกได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น แต่การตั้งราคาสินค้าก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แม้ว่าต้นทุนการผลิตสินค้าแทบจะไม่ต่างกันแล้ว เพราะอยู่ที่ไหนในโลกก็สามารถซื้อเครื่องจักรและวัตถุดิบแบบเดียวกันได้ในราคาเดียวกัน แต่ต้นทุนค่าขนส่งหรือระบบโลจิสติกส์ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับตัวสินค้า แต่กลับเป็นตัวที่ทำให้ต้นทุนโดยรวมที่ส่งผลไปถึงราคาสินค้าแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น น้ำดื่มหนึ่งขวด ไม่ว่าจะผลิตจากโรงงานไหนก็ตาม ก็มีปริมาณและคุณภาพแบบเดียวกัน อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตไม่ต่างกันนักหรอก มีแต่ค่าขนส่งไปยังร้านค้าต่างหากที่แตกต่างกัน และไม่ว่าจะขนส่งถูกหรือแพง ก็ไม่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำดื่มขวดนั้น ดังนั้น แผนพัฒนาประเทศของประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนแต่เขียนอยู่บนแนวทางที่จะทำให้ค่าขนส่งให้ประหยัดที่สุดโดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณของสินค้าและบริการ คำว่าโลจิสติกส์จึงปรากฏอยู่ในทุกแผนพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจ มีการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้มีระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและช่วยลดต้นทุนโดยรวมให้กับผู้ผลิต อีกทั้งยังมีการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ยิ่งขนส่งมากชิ้น ต้นทุกต่อชิ้นยิ่งถูกลงเรื่อย ๆ ทำให้สินค้าจำนวนมหาศาลจากจีนออกไปตีตลาดโลกด้วยต้นทุนที่ถูกลงมาก
เมื่อจีนเปิดตัวเข้าสู่ตลาดโลกด้วยทรัพยากรฐานการผลิตจำนวนมหาศาลและแรงงานราคาถูก สินค้าต่าง ๆ ที่ผลิตโดยประเทศจีนก็เข้าสู่ตลาดโลกด้วยราคาขายที่ถูกกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตจากประเทศอื่น ในช่วงแรกสินค้าจากจีนยังไม่ได้มาตรฐานสากลนัก แต่ด้วยโลกาภิวัตน์ทำให้เครื่องจักรและกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากลเข้าสู่ประเทศจีนอย่างรวดเร็ว แม้ว่าปัญหาคุณภาพสินค้าจะลดลงจนได้รับการยอมรับจากประเทศอื่น ๆ แล้ว แต่ค่าขนส่งก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการแข่งขัน เนื่องจากตลาดใหญ่ของโลกยังอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกา ดังนั้น ประเทศจีนจึงมุ่งหน้าพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการหาทางออกสู่ตลาดด้วยเส้นทาง One Belt One Road และรถไฟความเร็วสูงเพื่อออกมายังอ่าวไทย การตั้งศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทอาลีบาบาในมาเลเซีย และการนำหุ่นยนต์มาเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกสินค้าที่ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดต้นทุนของการขนส่งสินค้าเพื่อให้สินค้าของจีนสามารถขายได้ทั่วโลกในราคาที่สามารถแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นได้
ประเทศไทยก็ประสบปัญหาการแข่งขันของสินค้าจากประเทศจีนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเส้นทาง R 3 A และ R 3 B ที่เชื่อมโยงระหว่างภาคเหนือของประเทศไทยกับจีนตอนใต้ โดยผ่าน สปป.ลาวและเมียนมาร์ สินค้าเกษตรพืชไร่ เช่น หัวหอมและกระเทียมของภาคเหนือเจ๊งกันเกือบหมด เพราะผลิตผลจากจีนเข้ามาตีตลาด ด้วยราคาถูกกว่าแถมด้วยขนาดของหัวหอมและกระเทียมก็มีขนาดใหญ่กว่าอีกด้วย แล้วถ้าผนวกเทคโนโลยีโลจิสติกส์อันทันสมัยเข้าไปอีก สินค้าไทยจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อค่าแรงงานไทยแพงกว่าจีน ต้นทุนค่าวัตถุดิบต่าง ๆ ก็สูงกว่า เราจะไปแข่งกับจีนได้อย่างไร
คำตอบและทางรอดของสินค้าไทยในสถานการณ์ที่สินค้าจากจีนมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นมาก คือ อย่าไปแข่งกับเขา ฟังดูเหมือนตอบกวนแบบขอให้พ้นตัวไปที แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว มีสินค้าไทยเป็นจำนวนมากที่จีนไม่สามารถผลิตได้ หรือถ้าผลิตได้ก็ไม่ได้มีคุณภาพและรูปแบบที่สามารถใช้ทดแทนสินค้าไทยได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรคุณภาพสูง ไม่ใช่สินค้าเกษตรพื้นฐาน เอาง่าย ๆ ว่าเราทำนา สวนหรือไร่แบบยังชีพ ตามมีตามเกิดแข่งกับจีนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่เราต้องผลิตสินค้าเกษตรที่ขายได้ในราคาสูง มีการรับประกันคุณภาพตามมาตรฐานสากล และปรับตัวไปสู่โลจิสติกส์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความรวดเร็วเพื่อคงคุณค่าและคุณภาพของสินค้า ในขณะที่ประเทศจีนยังทำได้เพียงโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและประหยัดกับสินค้าที่คงทนถาวร ไม่เสียคุณค่าและคุณภาพไปกับการขนส่ง ตัวอย่างเช่น มะม่วงอกร่อง มังคุด ลำไย และผักผลไม้ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลและมีรสชาติดีได้รับความนิยมจากตลาดที่มีกำลังซื้อสูงในทวีปยุโรปและอเมริกา สินค้าเหล่านี้ประเทศจีนยังผลิตไม่ได้คุณภาพและปริมาณเทียบเคียงกับประเทศไทยได้ เป็นสินค้าประเภทที่ไม่ต้องการหุ่นยนต์ในการขนส่ง แต่ต้องการกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการขนส่งที่รวดเร็วที่เก็บผลผลิตจากสวนผลไม้ต้นทางเช้าวันนี้ให้สามารถไปวางขายในตลาดยุโรปในเช้าวันรุ่งขึ้นได้ในสภาพสดใหม่ หรือมุ่งที่สินค้าอุตสาหกรรมประเภทที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง มีมูลค่าสูงพอที่จะยอมรับค่าขนส่งที่มีราคาแพงได้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเภทอุตสาหกรรมที่รัฐบาลกำหนดให้ส่งเสริม 10 ประเภทตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรและนวัตกรรมมาช่วยในการผลิตให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพตอบสนองความต้องการแห่งอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
อนาคตของประเทศไทยในกระแสโลกที่มีการแข่งขันกันรุนแรงยิ่งขึ้น สินค้าและบริการต่าง ๆ เคลื่อนที่ไปสู่มือผู้บริโภคได้อย่างไร้พรมแดน ใครสามารถทำราคาขายให้ต่ำที่สุดได้คนนั้นชนะ ถ้ามองแบบเผิน ๆ ก็คงต้องยอมแพ้จีนเพราะเขาน่าจะผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้ามองในรายละเอียดแล้ว ประเทศไทยยังมีสินค้าอีกจำนวนมากที่เรามีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าประเทศจีน ซึ่งสินค้าเหล่านั้นมีฐานการผลิตอยู่บนสินทรัพย์ที่ติดตัวกับที่ตั้งและประชาชนคนไทยมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิอากาศ ส่งผลให้วัตถุดิบและวิถีวัฒนธรรมการผลิตเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย ประเทศอื่นไม่สามารถแข่งขันได้เพราะไม่ได้มีพื้นฐานแบบเดียวกัน เช่น สินค้าเกษตรคุณภาพสูงประเภทผักและผลไม้ สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานในระดับสากล สินค้าอุตสาหกรรมที่ต้องการทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางธุรกิจระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สินค้าเหล่านี้ต้องการรูปแบบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่จำเพาะเจาะจงให้สามารถส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วเพื่อรับประกันคุณค่าและคุณภาพสินค้าให้ไม่เสื่อมลงเมื่อถึงปลายทาง ไม่ได้ต้องการหุ่นยนต์ ไม่ต้องการเทคโนโลยีเพื่อความรวดเร็วเพียงอย่างเดียว ซึ่งประเทศจีนไม่มีโอกาสที่จะผลิตสินค้าเหล่านั้น ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจอีกมากมายที่เราสามารถชนะได้โดยไม่ต้องแข่งขัน เพียงแต่เรามองเห็นมันหรือไม่เท่านั้นเอง
ดร.พนิต ภู่จินดา
บทความจาก rabbit today เมื่อปี 2018