14 มกราคม 2567 ที่รพ.ลี้ จ.ลำพูน นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิด
โครงการพาหมอไปหาประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน kick off พร้อมกัน 4 ภาค โดยภาคเหนือจัดที่รพ.ลี้ จ.ลำพูน ให้บริการ 12 คลินิก ได้แก่ การคัดกรองมะเร็งตับ,ทางเดินน้ำดี,ปากมดลูก,เต้านม,ลำไส้ใหญ่, คลินิกสุขภาพจิต กระดูกและข้อ คัดกรองสายตา ทันตกรรม คัดกรองวัณโรค ตรวจสุขภาพพระสงฆ์และผ่าตัดต้อกระจก มีประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,600 คน
โดยในกิจกรรมครั้งนี้ โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้ส่งทีมแพทย์อาสาเข้าร่วมบริการประชาชนได้แก่ ศัลยแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร วิสัญญีแพทย์ วิสัญญีพยาบาล จักษุแพทย์ พยาบาลห้องส่องกล้อง ช่วยผ่าตัดและทีมสนับสนุน โดยมีประชาชนเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยการส่องกล้อง (colonoscopy) รวม 98 ราย ผ่าตัดต้อกระจก (Blinding cataract) 21 ราย
สำหรับโครงการพาหมอไปหาประชาชนในภาคเหนือจะจัดขึ้นทั้งหมด 8 ครั้ง ดังนี้
- รพ.ลี้ จ.ลำพูน 14 มกราคม 2567
- รพ.สันติสุข จ.น่าน 3 กุมภาพันธ์ 2567
- รพ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 26 กุมภาพันธ์ 2567
- รพ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 2 มีนาคม 2567
- รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย 8 เมษายน 2567
- รพ.เถิน จ.ลำปาง 22 พฤษภาคม 2567
- รพ.เชียงคำ จ.พะเยา 3 มิถุนายน 2567
- รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ 28 กรกฎาคม 2567
ข่าวและภาพจากเพจรพ.นครพิงค์
“โครงการพาหมอไปหาประชาชนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ”
โครงการเปิดตัวพร้อมกัน 4 จังหวัดใน 4 ภาคทั่วประเทศ ได้แก่
- ภาคเหนือ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
- ภาคกลาง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
- ภาคใต้ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ภาคอีสาน ณ โรงพยาบาลสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
โดยโครงการจะดำเนินกิจกรรมไปตลอดปี 2567 จำนวน 72 ครั้ง ใน 77 จังหวัด
บริการอย่างน้อย 7 คลินิก
โครงการนี้จะให้บริการตรวจคัดกรองรักษา ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ในพื้นที่ห่างไกลโดยหน่วยแพทย์เฉพาะทางจิตอาสา ให้บริการอย่างน้อย 7 คลินิก ได้แก่
- คลินิกคัดกรองมะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี
- คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม
- คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ
- คลินิกทันตกรรม
- คลินิกกระดูกและข้อ
นอกจากนั้น ยังมีบริการคลินิกด้านอื่นๆ เพิ่มเติมตามบริบทปัญหาของแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากพบอาการผิดปกติจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป
โครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จิตอาสาและภาคประชาชน สำหรับในส่วนของเขตสุขภาพที่ 9 มีการจัดบริการเพิ่มเติมอีก 4 คลินิก ได้แก่ 1.คลินิกคัดกรองความเครียด 2.คลินิกขาเทียม 3.คลินิกตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูงสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ (Echocardiogram) และ 4.คลินิกส่งเสริมการมีบุตร รวมมีผู้เข้ารับบริการทั้งหมด 361 คน