ต่อหมันหญิง
“อยากมีลูกเพิ่ม(ค่ะ/ครับ)” คือคำตอบที่พ่อแม่ทุกคนมาหาคุณหมอในกรณีทำหมันถาวร
และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อหมัน ซึ่งถ้าเอ่ยถึงทีไร คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการต่อหมันชายมากกว่าหญิง ในความเป็นจริงแล้ว การต่อหมันหญิงนั้นมีมานานแล้ว ซ้ำ..ง่ายกว่าต่อหมันชายเสียอีก
ในทางการแพทย์ ถือว่าการทำหมัน เป็นการคุมกำเนิดถาวรที่ได้รับความนิยมที่สุด โดยการคีบท่อมดลูกหรือท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างมาผูกแล้วตัด ซึ่งร้อยละ 23 ของผู้หญิงที่อายุระหว่าง 15 - 44 ปี มักคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ และพบว่าร้อยละ 5 - 10 ของผู้หญิงที่ทำหมัน มักเกิดความเสียใจและไม่พอใจ อยากแก้หมันในภายหลัง ซึ่งในปัจจุบันการต่อหมันไม่ใช่เรื่องยุ่งยากสามารถทำได้โดยใช้เทคนิคการต่อหมันด้วยกล้องจุลทรรศน์
แต่ก่อนที่จะเริ่มการต่อหมันนั้น จะต้องมีการตรวจร่างกายทั้งสามีและภรรยา เพื่อดูความพร้อมของร่างกายว่าสมบูรณ์แข็งแรงเพียงใด โดยเฉพาะในฝ่ายหญิงจะต้องใช้การส่องกล้องทางช่องท้อง โดยเจาะเพียง 2 รูเข้าไปดูสภาพของท่อนำไข่ จากนั้นอาจทำการต่อหมันทันทีหรือนัดหมายภายหลัง โดยวิธีการนั้นจะมีการวางยาสลบหรือใช้ยาชาฉีดเข้าไขสันหลังก่อนทำการต่อหมัน และเนื่องจากท่อนำไข่มีขนาดเล็กมาก จึงใช้วิธีการต่อหมันด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยการตัดต่อท่อนำไข่ทีละข้าง แล้วเย็บต่อท่อเข้าหากัน จากนั้นทำการฉีดสีเข้าไปที่มดลูก เพื่อตรวจสอบว่าสีสามารถเดินทางไปยังท่อนำไข่ที่ต่อแล้วได้ดีเพียงใด จึงต่ออีกข้างและทำการทดสอบเช่นกัน ก่อนจะเย็บปิดแผลเป็นขั้นตอนสุดท้าย การต่อหมันด้วยวิธีนี้ มีความแม่นยำสูงและอัตราการตั้งครรภ์ก็สูงกว่าวิธีอื่น อย่างไรก็ตาม อาจใช้การส่องกล้องทางช่องท้องช่วยในการต่อหมันอีกวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย แต่ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการต่อหมันด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งทั้ง2 วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 - 50,000 บาทต่อราย (27/10/2553)
แต่จะตั้งครรภ์หรือไม่นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า โดยธรรมชาตินั้น สิ่งที่ตัดไปแล้วทำให้กลับคืนมาอีกครั้ง ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่เหมือนเดิมก็ได้ เพราะโอกาสตั้งครรภ์ของผู้หญิงที่ต่อหมันมีตั้งแต่ร้อยละ 15 – 90 จะเห็นว่าตัวเลขห่างกันมาก แต่สำหรับโรงพยาบาลศิริราชพบว่า โดยเฉลี่ยหญิงที่ได้รับการต่อหมันแล้ว จะมีอัตราการตั้งครรภ์สูงถึงร้อยละ 70 ทั้งนี้จะตั้งครรภ์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน
- อายุของผู้หญิงที่ต่อหมัน หากอายุเกิน 40 ปี โอกาสตั้งครรภ์จะน้อยกว่า
- การเจริญพันธุ์ของฝ่ายหญิง หากรังไข่ไม่ทำงาน มดลูกไม่ปกติ มีเนื้องอกมดลูก ฯลฯ ต่อหมันไปแล้วก็มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่า
- การเจริญพันธุ์ของฝ่ายชาย หากฝ่ายชายน้ำเชื้ออ่อน โอกาสตั้งครรภ์ก็น้อยกว่า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจฝ่ายสามีด้วย
- ระยะเวลาการแก้หมัน ยิ่งทำหมันมานานเท่าไหร่ โอกาสท้องก็น้อยลง เช่น แก้หมันหลังทำหมันภายใน 5 ปี โอกาสตั้งครรภ์ ร้อยละ 74 ถ้าแก้หมันหลังทำหมันภายใน 6 – 10 ปี โอกาสตั้งครรภ์เหลือเพียงร้อยละ 63
- ทำหมัน ด้วยวิธีไหน หากใช้กล้องส่องยิง แล้วใช้แถบหนังยางหรือคลิปรัดท่อมดลูก มักไม่เสียหายมากนักเมื่อแก้หมันแล้ว โอกาสตั้งครรภ์จะสูงกว่า แต่หากตัดท่อออกไปมาก หรือตัด ส่วนปลายที่รับไข่ หรือใช้ไฟฟ้าจี้ทำลายท่อมดลูกเป็นวงกว้าง เมื่อแก้หมันแล้ว โอกาสตั้งครรภ์จะน้อยกว่า
- ความชำนาญของสูตินรีแพทย์และเครื่องมือแพทย์
- ความสมบูรณ์ของท่อหลังการต่อหมัน ในกรณีที่มีการอักเสบของปีกมดลูกบ่อย ๆ ท่อนำไข่ไม่สมบูรณ์แม้ต่อหมันแล้ว โอกาสตั้งครรภ์ก็น้อยกว่าท่อที่สมบูรณ์
- สุขภาพทั่วไปของผู้ต่อหมัน หากสุขภาพไม่ดี มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด ภูมิแพ้ โอกาสตั้งครรภ์หลังต่อหมันจะต่ำกว่าผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง
ฟังแล้วอย่าเพิ่งห่อเหี่ยวใจ ตราบใดที่เรายังมีหวัง ผลสำเร็จย่อมตามมาไม่ช้าก็เร็ว
รศ.นพ.เรืองศิลป์ เชาวรัตน์
ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
27/10/2553