คำแนะนำวิธีแก้ง่วงระหว่างเดินทาง
กรมอนามัย และหน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ มีคำแนะนำเป็นประโยชน์ไว้ ดังนี้
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนออกเดินทาง
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เหล้า เบียร์ ห้ามเด็ดขาด
- ไม่กินยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาลดน้ำมูก ยาภูมิแพ้ ยาแก้ไอ เป็นต้น ทั้งก่อนการขับรถและขณะขับรถ
- หากจำเป็นต้องกินยา ต้องปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร ไว้เลย ฟังคำแนะนำและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
- มีเครื่องดื่มช่วยเพิ่มความสดชื่น ติดไว้ ใกล้ๆ มือ จะเป็นเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น ก็แล้วแต่ชอบ ยกดื่ม จิบได้เรื่อยๆ จะช่วยกระตุ้นและทำให้ตื่นตัวได้เป็นอย่างดี
- มีของกินเล่น ติดไว้ด้วย ก็ช่วยได้ เช่น มันฝรั่ง ลูกอม หมากฝรั่ง นอกจากจะคลายหิวแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายตื่นตัวอีกด้วย
- สร้างความสดชื่นด้วยการลดอุณหภูมิ ปรับความเย็นแอร์ลงหรือเร่งพัดลมแรงขึ้น หันเข้าหาตัว หรือลดกระจกลงเพื่อรับอากาศจากภายนอกบ้าง
- ควรเตรียมผ้าชุบน้ำไว้เช็ดหน้า หรือ ผ้าเย็น ก็ช่วยได้เมื่อมีอาการเมื่อย เหนื่อย ล้า ซึม
- เปิดเพลงฟัง จะช่วยสร้างความครื้นเครงและทำให้ตื่นตัวขณะขับรถ แต่ต้องระวังหากใส่หูฟัง เพราะอาจจะไม่ได้ยินเสียงสภาพแวดล้อม ได้
- ปรับขยับร่างกาย ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนท่าบ้าง ลดเมื่อยแก้ง่วงได้ ดีทีเดียว
- แวะปั๊ม หรือจุดพักระหว่างทาง หากรู้สึกง่วง หรืออ่อนเพลีย หยุดพักสักพัก เพื่อนร่วมทาง ไม่ขัดแน่นอน
- ปวดปัสสาวะ ปวดท้อง ให้หาโอกาสจอดทำธุระทันที ไม่ควรอั้น ถือเป็นโอกาสได้พักอีกอย่างหนึ่ง
- ถ้ามีอาการง่วงมาก ให้จอดรถนอนพักไปเลย พักสัก 15 นาที จะทำให้อาการง่วงดีขึ้น
- อาการง่วงหลังอาหาร อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าง่วง ให้นอนพักสักงีบ อาการง่วงจะหายไป
- อย่ากินให้อิ่มมากเกินไป เพราะเมื่ออิ่มมาก ร่างกายจะหลั่งสารทำให้เกิดความรู้สึกง่วงนอนมากขึ้น แนะนำ เลือกกินให้อิ่มกำลังดี แล้วกินเติมของว่างกินง่าย เช่น แซนด์วิช นม หากหิวในภายหลังแทน
- พูดคุย ระหว่างขับขี่ ก็ช่วยได้มากพอสมควร
การเตรียมตรวจเช็คยานพาหนะ
หากคุณเลือกที่จะขับรถไป สิ่งที่ต้องใส่ใจมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นการตรวจ "สภาพรถ" ของคุณที่ต้องพร้อมในการขับรถทางไกล เพื่อความปลอดภัยของคุณเอง คนในครอบครัว และผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกับคุณ และนี่คือรายการ Checklist ที่คุณควรเช็ค ก่อนออกเดินทาง
1. ของเหลวในเครื่องยนต์
น้ำมันเครื่อง การตรวจเช็คควรทำตอนเครื่องยนต์เย็น โดยตรวจเช็คระดับน้ำมันเครื่องให้อยู่ในระดับ Max หากน้ำมันเครื่องอยู่ระดับต่ำกว่า Min ควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ และสังเกตสีของน้ำมันเครื่องไม่ควรข้นดำจนเกินไป รวมถึงตรวจดูรอยรั่วซึมตามจุดต่างๆ
น้ำมันเกียร์ น้ำมันเกียร์อัตโนมัติควรตรวจเช็คตอนเครื่องร้อน โดยติดเครื่องยนต์ประมาณ 15 นาที แล้วเหยียบเบรก ดึงเบรกมือ และเลื่อนคันเกียร์ช้าๆ จาก P ไปถึง L และเลื่อนกลับช้าๆ มาที่ P ตรวจสอบก้านวัด ถ้าอยู่ตรงช่วง Hot คือระดับน้ำมันเกียร์ปกติ (เกียร์ CVT ไม่มีก้านวัด ต้องให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ)
น้ำมันเบรก ตรวจเช็คระดับน้ำมันเบรกให้อยู่ในระดับ Max หากต้องเติม จำเป็นต้องเติมให้ตรงกับระบบเบรกตามที่คู่มือแนะนำ
น้ำในหม้อน้ำและหม้อพักน้ำ การตรวจเช็คควรทำตอนเครื่องยนต์เย็น โดยตรวจเช็คระดับน้ำในหม้อพักให้อยู่ในระดับที่กำหนด และน้ำในหม้อน้ำไม่เป็นสนิม รวมถึงตรวจดูรอยรั่วซึม โดยสังเกตว่ามีคราบสีของน้ำหม้อน้ำตามจุดต่างๆ หรือไม่
2. แบตเตอรี่
แบตเตอรี่แบบเติมน้ำกลั่น ควรเติมน้ำกลั่นให้อยู่ระหว่าง Min และ Max อยู่เสมอ หากใช้งานมาแล้ว 1.5 – 2 ปี ควรให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจเช็คประสิทธิภาพการเก็บประจุไฟ รวมถึงเช็คสภาพขั้วแบตเตอรี่ เช็ดทำความสะอาดหากมีคราบขี้เกลือ และสายไฟ ไม่มีรอยฉีกขาด
3. ยางและลมยาง
เช็คความดันลมยางให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตรวจดูสภาพยาง ไม่แข็งกระด้าง ไม่มีรอยปริ ฉีกขาด และดอกยางไม่สึกจนถึงสะพานยาง
4. ที่ปัดน้ำฝน
ทดลองใช้ใบปัดน้ำฝนและระบบฉีดน้ำล้างกระจกทำงานเป็นปกติ สามารถปัดทำความสะอาดได้ดี
5.ไฟส่องสว่าง
ตรวจเช็คไฟส่องสว่างทั้งภายนอกและภายในตัวรถให้สามารถใช้งานได้ทุกดวง และสว่างเป็นปกติ รวมถึงเช็คระดับองศาของไฟหน้าไม่ให้สูงเกินไป เพราะจะรบกวนการมองเห็นของผู้ที่ขับสวนมา
6. แตรรถยนต์และแผงควบคุม
ตรวจการทำงานของแตรรถ แผงควบคุม และการแสดงผลของไฟสัญญาณบนหน้าคอนโซล ว่าทำงานเป็นปกติหรือไม่
7. ชุดเครื่องมือประจำรถ
ในรถควรมีชุดเครื่องมือ เช่น แม่แรง ประแจ คีม บล็อกถอดล้อ สายพ่วงแบตเตอรี่ (ถ้ามี) เผื่อในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน