กลุ่มที่ 1
1. พวกที่ออกฤทธิ์กระตุ้น ( Stimulants)
มีประมาณ 40 ชนิด พวกนั้นออกฤทธิ์ทำให้มีการตื่นตัว ลดการอ่อนเพลีย เพิ่มความรู้สึกอยากที่จะแข่งขัน โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย แต่ยากลุ่มนี้มีข้อเสียคือทำให้การตัดสินใจลดน้อยถอยลงไป ดังนั้นผลที่ตามมาคือเกิดอุบัติเหตุในการแข่งขันได้ง่าย ยาในกลุ่มนี้เป็นพวก Sympatomimetic amines ( กระตุ้น Sympathetic nerve) เพิ่มการไหลเวียนของเลือดทำให้ออกซิเจนไปสู่อวัยวะที่ต้องการคือ กล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น
อันตรายของยากลุ่มนี้ คือ ทำให้ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ หัวใจเต้นผิดปกติ อาจมีอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวาย และมือเท้าสั่น กระตุ้น สารกระตุ้นพวกนี้ส่วนใหญ่ใช้กับกีฬาประเภทที่ใช้แรงในระยะสั้นๆ จะตรวจหาสารพวกนี้ทางปัสสาวะได้ทั้งในรูปที่เป็น Native form และ Metabolite form
สำหรับกาแฟ ( Caffeine) ถ้าบอกว่าเป็นสารกระตุ้น ต้องมีปัญหากับนักกีฬาเพราะกาแฟเป็นเครื่องดื่ม แต่ว่านักกีฬาทานตามปกติก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทานไปหลายๆ แล้วติดต่อเพื่อตั้งใจโด๊ป ก็ต้องวัดปริมาณในปัสสาวะ ถ้ามีความเข็มข้นเกินกว่า 12 ไมโครกรัม/ 1 มิลลิลิตร ก็ถือว่าเป็นการโด๊ป ยาในกลุ่มนี้มักจะผสมอยู่ในยาแก้ไข้หวัด เช่น Ephedrine, pseudoephedrine, phenylpropanolamine เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นถ้านักกีฬาจะทานยาแก้หวัดควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนจึงจะปลอดภัย
นอกจากนี้ยาพวก Beta-Agonists ซึ่งเราใช้ในการรักษาโรคหอบหืด หลอดลม, โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ก็ต้องใช้ไม่ได้ด้วยการกินหรือฉีด ซึ่งได้แก่ Bitoterol Terbutaline Salbutamol Orciprenaline Rimiterol แต่ถ้าเป็นชนิดพ่นลำคอ อนุญาตให้นักกีฬาใช้ได้ แต่ต้องมีบันทึกแจ้งคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ของการแข่งขันให้ทราบก่อนการแข่งขัน ตัวอย่างยาที่อยู่ในกลุ่มกระตุ้นทั้ง 40 ชนิด จากการประชุม IOC medical Commission เมื่อเดือนตุลาคม 1991 ได้กำหนดสารกระตุ้นเพิ่มเติมในกลุ่มที่ 1 Stimulant ( กลุ่มกระตุ้น) อีก 2 ชนิด คือ amineptine และ mesocarbe ดังนั้นยาในกลุ่มกระตุ้นจึงมีทั้งหมด 42 ชนิด
2. พวกที่ออกฤทธิ์แก้ปวดและเสพติด ( Narcotic analgesics)
ใช้แล้วนักกีฬาออกกำลังได้มากขึ้น ลดอาการปวดของกล้ามเนื้อ เล่นกีฬาได้นาน ใช้ในนักกีฬาที่แข่งขันนานๆ เช่น วิ่งทน จักรยาน ทำให้เคลิบเคลิ้ม ไม่สนใจอย่างอื่นอยากเล่นกีฬาอย่างเดียว ข้อเสียของยากลุ่มนี้คือ ลดการหายใจ และติดยา
ตัวอย่างที่ใช้บ่อยๆ ในกลุ่มนี้มักปนอยู่กับยาแก้ไอชนิดที่มีส่วนผสมของ Codeine, และยาแก้ปวดที่มีสูตรของ Codeine, หรือคล้ายๆ อยู่ด้วย แต่ Dextrometrophan ที่ใช้แก้ไอไม่ถือเป็นยาโด๊ป
ยาในกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 19 ชนิด
3. Anabolic steroids
มีอยู่ 16 ชนิด ยากลุ่มนี้มีผลทำให้ปริมาตรและขนาดของกล้ามเนื้อโตขึ้น เพิ่มความแข็งแรง เพิ่มคามสามารถในการแข่งขัน
แต่มีข้อเสียคือ การใช้มากและนานจะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ทางจิต มีอันตรายต่อตับ ให้เด็กวัยเจริญเติบโตจะทำให้การเจริญเติบโตของกระดูก หยุดชะงัก นักกีฬาชายที่ใช้ยานี้นานจะมีศีรษะล้าน ลูกอัณฑะฝ่อ ความดันโลหิตสูง และเป็นหมันได้ ในนักกีฬาหญิงจะลดการทำงานของรังไข่ ลดการมีประจำเดือน มีลักษณะคล้ายนักกีฬาชาย เต้านมเหี่ยว ผมมีลักษณะล้านเหมือนกับชาย ยาพวกนี้มักจะใช้ในนักกีฬาที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมากๆ เช่น ยกน้ำหนัก มวยปล้ำ เพาะกาย เป็นต้น ให้เอาอัตราส่วนระหว่าง Testosterone/epitestosterone ( ซึ่งเป็น metabolite) ถ้าอัตราส่วนมากกว่า 6 ว่าเป็นโด๊ป ยาในกลุ่มนี้มีอยู่ด้วยกัน 16 ชนิด
4. Beta-Blockers
เป็นยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจ โดยไปลด Nerve conduction ที่ Beta-receptor ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง การเต้นของหัวใจไม่ปกติ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปวดศีรษะไม่เกรน เป็นต้น
นักกีฬาที่ใช้ยาในกลุ่มนี้มักเป็นนักกีฬาที่มีความฟิตของร่างกายไม่มากนัก แต่ต้องการสมาธิและระวังการตื่นเต้น เช่น ยิงปืน ยิงธนู ข้อเสียของการใช้ยานี้ คืออาจเกิดการเกร็งของหลอดลมเป็นหอบหืดได้ ความดันโลหิตต่ำ ยาในกลุ่มนี้มีประมาณ 9 ชนิด
5. ยาขับปัสสาวะ ( Diuretics)
นักกีฬาใช้เพื่อขับน้ำออกจากร่างกาย เพื่อลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว มีประโยชน์กับนักกีฬาที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก แข่งเป็นรุ่น เช่น มวย ยกน้ำหนัก
นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อหวังผลจะทำให้ปัสสาวะออกมากจะไปเจือจางยาโด๊ปตัวอื่นๆ ลง ทำให้การตรวจพบทำได้ยาก
ข้อเสียของยาคือ ร่างกายจะเสียเกลือออกไปกับปัสสาวะมากขึ้น ได้แก่ เกลือ โซเดียม โปตัสเซียม ทำให้เกิดตะคริวในกล้ามเนื้อง่าย เกิดภาวะ Heat exhaust และ heat stroke ง่าย ยาในกลุ่มนี้มีประมาณ 18 ชนิด เช่น Acetazolamide amiloride benzothiazide
กลุ่มที่ 2
การโด๊ปเลือด ( Blood doping) โดยการให้เลือดแก่นักกีฬา โดยอาศัยความรู้ทางทฤษฏีว่าเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย รวมทั้งกล้ามเนื้อขณะออกกำลังด้วย ในการแข่งขันต้องใช้พลังงานแบบแอโรบิค ถ้ามีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมาก ย่อมก่อให้เกิดพลังงานได้มากด้วย
การให้เลือดมีวิธีการให้ได้หลายแบบ เช่น ให้ Whole blood ซึ่งมีเม็ดเลือดแดงประมาณ 40-45 % แต่มีผลเสียคือจะเกิด circulation overload ได้ง่าย ต่อมามีการปรุงยาโด๊ปแบบให้ Pack red blood cell ซึ่งจะมีเม็ดเลือดแดงประมาณ 80 % ให้ครั้งละ 1 ยูนิต คือประมาณ 300 ลูกบาศก์มิลลิลิตร จะไม่มีผลต่อ circulation overload แต่อย่างไร
แต่มามีการปรับปรุงไปใช้แบบ Frozen red cell โดยเก็บเม็ดเลือดไว้โดยวิธี cryo-preservative ที่อุณหภูมิ -70 องศา ถึง 80 C จะเก็บเลือดแดงไว้ได้นานถึง 3 ปี (ปกติเม็ดเลือดแดงเก็บโดยวิธีธรรมดา ภายนอกร่างกายมีอายุได้ 35 วัน) จึงเหมาะสำหรับเอามาใช้ Autologous transfusion (เอาเลือดของตัวเองให้กับตัวเอง) วิธีนี้นักกีฬามักจะเอาเลือดออกมา 2 ยูนิต ประมาณ 90 วัน ร่างกายจะสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาชดเชยได้ตามปกติ พอก่อนการแข่งขันก็เอาเลือดของตัวเอง 2 ยูนิตมาใส่คืนวิธีนี้ปฏิกิริยาแพ้ต่างๆ จากการให้เลือดก็จะไม่มี
ปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่พบบ่อยๆ คือ ลมพิษ Febrile reaction และการให้เลือดผิดกรุ๊ปซึ่งรุนแรงจนถึงตายได้นอกจากนี้ก็มี serum sickness
นักกีฬาที่ใช้การโด๊ปเลือดมักจะเป็นนักกีฬาที่ต้องใช้ความอดทน เช่น วิ่งระยะไกล จักรยาน เป็นต้น