สารปนเปื้อนในอาหาร (Contaminants) หมายถึง สารที่ปนเปื้อนมากับอาหารโดยซึ่งอาจมาจากกระบวนการผลิต ทั้งในกรรมวิธีการผลิต โรงงาน การดูแลรักษา การบรรจุ ตลอดจนการขนส่งและการเก็บรักษา หรือเกิดจากการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันในการผลิตอาหาร ผู้ผลิตบางแห่งมีการนำสารเคมี ผสมในอาหาร สารเคมีบางอย่างเป็นอันตรายต่อร่างกาย บางชนิดหากบริโภคเข้าไปในปริมาณมากอาจถึงแก่ชีวิตได้ สารเคมีที่เป็นอันตรายแต่มักพบว่ามีการปนเปื้อนในอาหารและสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร มีการเก็บตัวอย่างนำมาทดสอบอยู่เสมอ ได้แก่
- สารกันรา (กรดซาลิซิลิค)
- สารฟอกขาว(โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์)
- บอแรกซ์
- ฟอร์มาลิน
- สารตกค้างพวกยาฆ่าแมลง
- โคลิฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง
1. สารกันรา หรือ กรดซาลิซิลิค salicylic acid
เป็นกรดอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ที่ใช้เป็นวัสดุในการทำเครื่องสำอาง และการผลิตยาบางชนิด สูตรเคมีคือ C6H4OH.COOH มีลักษณะเป็นผลึกสีขาวมีจุดหลอมเหลว 159 องศาเซลเซียส มีสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดี แต่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เป็นสารที่ห้ามใช้ในอาหาร แต่มีการนำสารชนิดนี้ใส่ในน้ำดองผักผลไม้เพื่อให้ดูใสเหมือนใหม่อยู่เสมอ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดห้ามนำมาใส่เจือปนในอาหาร ปัจจุบันยังตรวจพบกรดซาลิซิลิคในอาหารหลายชนิด เช่น แหนม หมูยอ ผักผลไม้ดองจำพวก มะม่วงดอง ผักกาดดอง มะกอกดอง มะดันดอง ขิงดอง ก๊งฉ่าย เกี๊ยมฉ่าย ไชโป้ และหน่อไม้อัดปี๊บถ้าผู้บริโภคได้รับสารกันราหรือกรดซาลิซิลิคจนมีความเข้มข้นในเลือดปริมาณ 25ถึง 35 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 มิลลิลิตร จะมีอาการอาเจียน หูอื้อ มีไข้และอาจถึงตายได้
ในเมื่อมีการนำสารกันราหรือกรดซาลิซิลิคมาเจือปนในอาหารจึงต้องมีการตรวจสอบเพื่อดูว่าอาหารบางชนิดที่มีจำหน่ายทั่วไปมีการลักลอบใช้สารกันราหรือไม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดทำชุดทดสอบกรดซาลิซิลิค(สารกันรา)ในอาหาร เพื่อให้นำไปใช้ทดสอบได้เอง
ในชุดทดสอบจะมีน้ำยาทดสอบสองชนิด หลอดหยดและภาชนะที่ใส่ตัวอย่างสำหรับการทดสอบให้ครบถ้วน น้ำยาทดสอบ 1 คือ สารละลายกรดซาลิซิลิค น้ำยาทดสอบ 2 คือ สารละลายเฟอร์ริคคลอไรด์ (FeCl3) วิธีการทดสอบสามารถทำได้ตามคำแนะนำซึ่งมีขั้นตอนต่าง ๆ หลายขั้น แต่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็จะทราบได้ว่า ผลไม้ดองหรือผักดองนั้นมีสารกันราหรือกรดซาลิซิลิคเจือปนอยู่หรือไม่
2. สารฟอกขาว (โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์)
ถั่วงอกที่ขาวอวบ ผ้าขี้ริ้วที่ดูขาวกรอบน่ารับประทานมักจะถูกฟอกขาวด้วยสารฟอกขาว นอกจาก จะมีการใช้สารฟอกขาวในถั่วงอกแล้วยังมีการใช้ในอาหารประเภท ทุเรียนกวน หน่อไม้ ขิงซอย ขนมจีน น้ำตาลทรายหรือสินค้าอาหารอื่นๆที่มีสีขาวให้ดูน่ารับประทานและดูใหม่อยู่เสมอ สารฟอกขาวหรือสารฟอกสีที่ใช้ในอาหารนั้นมีหลายชนิด ที่นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารก็คือสารเคมีในกลุ่มซัลไฟต์
ได้แก่
1) สารประกอบซัลไฟต์ เช่น แคลเซียมซัลไฟต์ โซเดียมซัลไฟต์ โพแทสเซียมซัลไฟต์
2) สารประกอบไบซัลไฟต์ เช่น โพแทสเซียมไบซัลไฟต์ ซึ่งใช้ป้องกันการบูดเสียของอาหารได้ด้วยและ
3) สารประกอบเมตาไบซัลไฟต์ เช่น โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์
สารฟอกสีเหล่านี้ เป็นสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุเจือปนในอาหารได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่กำหนดตามชนิดของอาหาร ถ้าใช้เกินปริมาณที่กำหนดจะเกิดอันตรายได้ เช่น โซเดียมซัลไฟต์ถ้าใช้ในปริมาณที่เกินกำหนด จะมีสารกำมะถันตกค้างในอาหารในปริมาณสูงและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบ หืด อ่อนเพลีย และผู้ที่ออกกำลังมาก
ส่วนสารฟอกขาวที่เป็นอันตราย กระทรวงสาธารณสุขไม่อนุญาตให้ใช้เจือปนในอาหาร คือ สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์(Sodium hydrosulfite) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ผงซักมุ้ง ชื่ออื่นๆ ได้แก่ Dithionous acid, disodium salt; Sodium dithionite hydrate; Sodium sulfoxylate; Reductone; Sulfoxylate; Virtex L; Hydrolin; D-Ox; Vatrolite; มีสูตรโมเลกุล : Na2O4S2 สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์เป็นสารเคมีที่เป็น พิษ ลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว มีกลิ่นฉุนกำมะถันอ่อนๆ ละลายได้ในน้ำ ไม่ละลายในแอลกอฮอล์ เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการฟอกสี เช่น กระดาษ เส้นใยไหม แห อวน และเครื่องหนัง หากสัมผัสผิวหนังจะทำให้ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง ถ้าบริโภคเข้าไปจะทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสอาหารเช่น ปาก ลำคอและกระเพาะอาหาร หากกินเข้าไปมากเกิน 30 กรัม จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง เวียนศีรษะ อาเจียน อุจจาระร่วง ความดันโลหิตลดต่ำลง แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หลอดลมหดตัว ทำให้หอบหืด ในผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วอาจช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้
หากสงสัยว่า อาหารบางชนิด เช่น ถั่วงอก ผ้าขี้ริ้ว ตีนไก่ กระท้อนดอง ทุเรียนกวน ยอดมะพร้าวหรืออื่น ๆ มีสารฟอกขาว โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ ปนอยู่หรือไม่ สามารถใช้ชุดทดสอบโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์(สารฟอกขาว)ในอาหาร ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อทดสอบ น้ำยาที่ใช้ทดสอบโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ คือ สารละลายคอปเปอร์ซัลเฟต (CuSO4.5H2O) นั่นเอง ชุดทดสอบนี้สามารถตรวจสอบหาสารฟอกขาวที่เจือปนในอาหารทั้งที่เป็นของแข็งและของเหลว ซึ่งทำการทดสอบตามวิธีการง่าย ๆ ที่แนะนำไว้ในชุดทดสอบ
3. บอแรกซ์ (Borax)
เป็นสารเคมีสังเคราะห์ มีสูตรทางเคมีว่า Na2B4O7 ลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น มีชื่อที่เรียกกันทั่วไปหลายชื่อ เช่น ผงน้ำประสานทอง ผงกรอบ เพ่งแซ เป็นต้น ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับบอแรกซ์ไว้ สรุปได้ว่า โดยทั่วไปบอแรกซ์ใช้ในอุตสาหกรรมทำแก้ว ล้างหม้อขนาดใหญ่ ใช้ป้องกันวัชพืชในการเกษตร ใช้ป้องกันเชื้อราขึ้นตามต้นไม้ ใช้เป็นยาเบื่อแมลงสาบ และใช้เป็นตัวเชื่อมทองเส้นเข้าด้วยกัน แต่ปัญหาการใช้บอแรกซ์เกิดจากมีผู้นำมาใช้ผสมอาหาร เพื่อทำให้อาหารมีความเหนียวหรือกรุบกรอบทำให้อาหารชวนรับประทาน อาหารที่มักพบว่ามีบอแรกซ์ผสม เช่น ลูกชิ้น หมูยอ อาหารชุบแป้งทอด พวกกล้วยทอด มันทอด ผัก/ผลไม้ดอง เป็นต้น
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) กำหนดให้บอแรกซ์ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร หากบริโภคเข้าไป จะเกิดอันตรายต่อร่างกาย การบริโภคขนาด 0.1-0.5 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมอาจทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าผู้ใหญ่ได้รับสารบอแรกซ์ 15 กรัม หรือเด็กได้รับ 5 กรัม จะทำให้อาเจียนเป็นเลือดและอาจตายได้ บอแรกซ์เป็นพิษต่อไตและสมอง ทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะไตเป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทำให้เกิดกรวยไตอักเสบ เนื่องจากการสะสมของบอแรกซ์ และหากร่างกายได้รับสารบอแรกซ์ในปริมาณมาก จะทำให้เกิดกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง ตับถูกทำลาย อาจชัก หมดสติ โดยเฉพาะในเด็กและคนชราอาจถึงตายได้
สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีวิธีการตรวจสอบว่าในอาหารมีสารบอแรกซ์ปนเปื้อนอยู่หรือไม่ โดยมีชุดทดสอบบอแรกซ์ในอาหารที่สามารถนำไปตรวจสอบเองได้
ในชุดทดสอบจะมีน้ำยาทดสอบบอแรกซ์ ซึ่งเป็น สารละลาย HCl เจือจาง และกระดาษขมิ้น ซึ่งมี สารเคอร์คูมิน (Cercumin) เป็นส่วนประกอบ การทดสอบทำได้ไม่ยากโดยการหั่นหรือบดอาหารที่จะตรวจใส่ในภาชนะ เติมน้ำยาทดสอบลงไปจนเปียกชุ่ม แล้วใช้กระดาษขมิ้นจุ่มลงไปครึ่งแผ่น ตากให้แห้ง ถ้ากระดาษขมิ้นเปลี่ยนสีจากสีเหลืองไปป็นสีแดง แสดงว่าอาหารนั้นมีสารบอแรกซ์ปนเปื้อนอยู่
4. ฟอร์มาลิน (Formalin)
ฟอร์มาลิน (Formalin) หรือสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) มีสูตรเคมีว่า CH2O คนทั่วไปรู้จักกันว่าเป็นสารที่ใช้สำหรับดองศพเพื่อไม่ให้ศพเน่าเปื่อย ใช้ฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อรา และทำความสะอาดห้องคนป่วย ลักษณะทั่วไปของฟอร์มาลินเป็นสารละลายใส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เป็นสารรีดิวซ์รุนแรง เมื่อสัมผัสกับอากาศจะถูกออกซิไดส์ช้า ๆ ไปเป็นกรดฟอร์มิกซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน มีค่า pH ประมาณ 2.8-4.0 รวมตัวได้กับน้ำและแอลกอฮอล์ ชื่ออื่น ๆ ของฟอร์มาลิน คือ Methanal; Formic aldehyde; Methaldehyde
ฟอร์มาลินเป็นสารที่นิยมใช้กันในหลายด้าน ในด้านการแพทย์ ใช้ในการเก็บรักษาตัวอย่างทางกายวิภาค (anatomical specimens) เพื่อคงสภาพของเนื้อเยื่อไม่ให้เน่าเสีย ใช้ฆ่าเชื้อโรคในเครื่องมือต่าง ๆ เช่น เครื่องฟอกเลือด (เครื่องล้างไต) เครื่องมือเครื่องใช้ในการเตรียมและสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน ไอระเหยของฟอร์มาดีไฮด์สามารถนำมาอบห้องฆ่าเชื้อโรคตามโรงพยาบาล ในการทำเครื่องสำอางจะใช้สารฟอร์มาลินในยาสีฟัน ยาบ้วนปาก สบู่ ครีมโกนหนวดเพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยใช้เป็นส่วนประกอบในความเข้มข้นที่ต่ำมาก ใช้ในน้ำยาดับกลิ่นตัว ใช้เป็นส่วนประกอบของแชมพูสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ในด้านอุตสาหกรรม ฟอร์มาลินมีสมบัติทำให้ผ้าและกระดาษแข็งเกาะกัน จึงนำมาใช้ในการทำบอร์ดหรือไม้อัด อุตสาหกรรมสิ่งทอใช้ผลิตสารที่ใช้เปลี่ยนแปลงลักษณะน้ำหนักและความแข็งแรงของไหมสังเคราะห์ รักษาผ้าไม่ให้ยับหรือย่น ในอุตสาหกรรมกระดาษ ใช้เพื่อให้กระดาษลื่นและกันน้ำได้ เป็นต้น ส่วนในด้านการเกษตรใช้สารฟอร์มาลินทำลายและป้องกันจุลินทรีย์ที่ทำให้ต้นไม้เป็นโรค ใช้เก็บรักษาและป้องกันผลิตผลเกษตรจากการเสียหายระหว่างการขนส่ง ใช้ฆ่าเชื้อราในดิน ใช้เป็นส่วนผสมของสารละลายที่ใช้เคลือบผัก ผลไม้จำพวกส้มระหว่างการเก็บเกี่ยวเพื่อชะลอการเน่าเสีย เป็นต้น พ่อค้า แม่ค้า นิยมนำฟอร์มาลินมาแช่ผัก เนื้อสัตว์ และอาหารทะเลสด เพื่อทำให้อาหารต่างๆ สดอยู่ได้นานไม่เน่าเสียเร็ว แต่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
ในกรณีที่ร่างกายได้รับฟอร์มาลินในปริมาณต่ำ ร่างกายสามารถกำจัดได้ แต่หากได้รับในปริมาณที่สูงขึ้นถึง 30 – 60 มิลลิลิตรหรือมีความเข้มข้นมากขึ้น ฟอร์มาลินจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดฟอร์มิค (Formic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายการทำลายของเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์ตาย ฟอร์มาลินมีพิษต่อระบบต่างๆ เกือบทั่วทั้งร่างกาย เช่น ในระบบทางเดินหายใจ หากได้รับไอระเหยของฟอร์มัลดีไฮด์ แม้จะปริมาณต่ำจะทำให้หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถ้าสูดดมเข้าไปมาก ๆ จะทำให้น้ำท่วมปอด จนหายใจไม่ออก แน่นหน้าอกและตายในที่สุด อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหลายชั่วโมงหลังจากได้รับสารโดยไม่มีอาการเจ็บปวด เลยก็ได้ หากได้รับปริมาณน้อยเป็นเวลานาน จะมีอาการไอและหายใจติดขัดเพราะหลอดลมอักเสบ เป็นต้น ในระบบทางเดินอาหาร เมื่อรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินในปริมาณมากถึง 60 -90 มิลลิลิตร จะทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หากได้รับสารนี้โดยการบริโภค จะเกิดอาการพิษโดยเฉียบพลัน ซึ่งอาการมีตั้งแต่ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน อุจจาระร่วง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว นอกจากนี้เมื่อสัมผัสจะเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษ จนถึงผิวหนังไหม้เปลี่ยนเป็นสีขาวได้
ดังนั้นฟอร์มาลินหรือสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหารตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข แหล่งอาหารที่มักพบฟอร์มาลินปนเปื้อน ได้แก่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสดและผลไม้ ถ้าผู้บริโภคสงสัยว่าอาหารที่บริโภคนั้นมีฟอร์มาลินไม่ควรซื้อมารับประทาน เพราะฟอร์มาลินเป็นสารที่มีกลิ่นฉุนมากเมื่อนำไปใส่ในอาหารดังกล่าว ผู้บริโภคจะได้กลิ่นฉุนแน่นอน ดังนั้นก่อนการรับประทานหรือประกอบอาหารควร ล้างให้สะอาดเสียก่อนเพื่อความมั่นใจและรับประทานได้อย่างปลอดภัย
วิธีการตรวจสอบว่าอาหารมีฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่หรือไม่ อาจใช้วิธีสังเกตง่ายๆ ได้ดังนี้ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ให้สังเกตว่า หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ ถ้าเป็นผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ และถ้าเป็นปลา หรือกุ้งเนื้อแข็งแต่บางส่วน เปื่อยยุ่ย ไม่ควรซื้อมาประกอบอาหารเนื่องจากอาจจะได้รับอันตรายจากฟอร์มาลินที่ปน เปื้อนมาได้ ส่วนผักหรือผลไม้ ให้ดมที่ใบ หรือหักก้านดม หรือดมที่ผล ว่ามีกลิ่นแสบจมูกหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อน
สำหรับการเลือกอาหารให้ปลอดภัยจากอันตรายของฟอร์มาลิน ควรเลือกซื้อดังนี้ ถ้าเป็นเนื้อที่ไม่แช่ฟอร์มาลิน หากถูกแสงแดด หรือลม เป็นเวลานานๆ เนื้อจะมีลักษณะแห้ง และไม่เต่งตึงอยู่เหมือนเดิม ควรเลือกซื้อผักอนามัย หรือผักกางมุ้ง เลือกผักที่ไม่มีลักษณะแข็ง หรือกรอบจนเกินไป การเลือกอาหารทะเลควรเลือกอาหารที่สด เนื้อไม่เปื่อยยุ่ย สีไม่ผิดปกติ และอาหารทะเลต้องวางจำหน่ายในน้ำแข็งตลอดเวลา ที่สำคัญต้องล้างอาหารให้สะอาดก่อนการปรุงเสมอ
หากสงสัยและต้องการตรวจสอบว่าในอาหารมีฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่หรือไม่ ก็ทำการตรวจสอบได้โดยใช้ชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งภายในจะมีสารเคมีสำหรับตรวจสอบ 3 ชนิดและหลอดสำหรับใช้บรรจุของเหลวที่แช่อาหาร หรือผักผลไม้ที่จะตรวจสอบ
สารเคมีที่ใช้เป็นน้ำยาสำหรับตรวจสอบ อาจใช้ น้ำยาฟอร์มาลิน 1เป็นสารละลาย Phynylhydrazine hydrochloride (C6H9ClN2) น้ำยาฟอร์มาลิน 2 ใช้สารละลาย Potassium hexacyanoferrate (K4Fe(CN6)) และน้ำยาฟอร์มาลิน 3 เป็นสารละลายกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น (HCl conc.) โดยทำการตรวจสอบตามคำแนะนำในชุดทดสอบ
5. สารตกค้างพวกยาฆ่าแมลง
การลดสารพิษตกค้างในพืชผักและผลไม้ ทำได้โดยการล้างโดยใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต
อาหารที่มักตรวจพบว่ามีสารพิษตกค้างพวกยาฆ่าแมลงได้แก่ ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆอาหารตากแห้งบางชนิด เช่น ปลาทูเค็ม ปลาแห้ง เนื้อแห้ง เป็นต้น เมื่อรับประทานเข้าไปสารพิษเหล่านี้จะสะสมในร่างกายนานเข้าก็จะเป็นปัญหาเรื้อรังเป็นอันตรายต่อระบบสมองและประสาท เช่น ความจำเสื่อม สมาธิสั้น ยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในร่างกายเป็นพิษต่อตับ และ ไต รบกวนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกระทบต่อต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน)เป็นสารก่อมะเร็ง และสารก่อกลายพันธุ์และทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ด้วย สารพิษพวกยาฆ่าแมลงส่วนมากที่พบตกค้างในอาหาร เป็นสารพิษในกลุ่มฟอสเฟต และคาร์บาเมทซึ่งมีผลกระทบต่อระบบประสาท และถ้าได้รับพิษ 2 ชนิด รวมกันขึ้นไป จะยิ่งทำให้เกิดพิษสะสมเสริมกันสูงมากขึ้นนับ 1000 เท่า
การลดสารพิษตกค้างในพืชผักและผลไม้ ทำได้โดยการล้างให้สะอาดโดยวิธีล้างอาจทำได้โดยใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่ผักนาน 15 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดจะช่วยลดปริมาณสารพิษในผักลงได้ 90 – 92% หรือใช้น้ำส้มสายชู (5%) ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 กะละมัง แช่นาน 30 -45 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ปริมาณสารพิษที่ลดลงด้วยวิธีนี้คือ 60 – 84% หรืออาจล้างผักโดยให้น้ำไหลผ่าน ใช้มือช่วยคลี่ใบผัก นาน 2 นาที วิธีนี้ลดปริมาณสารพิษลงได้ 50 - 63% แต่ถ้าใช้การต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน ปริมาณสารพิษที่ลดลงคือ 48 – 50%
ถ้าเราต้องการตรวจสอบว่า ในผักหรือผลไม้มีสารพิษตกค้างพวกยาฆ่าแมลงปนเปื้อนอยู่หรือไม่ก็สามารถตรวจสอบได้โดยใช้ชุดทดสอบ เอ็ม เจ พี เค (MJPK) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
6. โคลิฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง (Coliform)
โคลิฟอร์มแบคทีเรีย เป็นแบคทีเรียชี้แนะ(Bacteriological indicator) ซึ่งถ้าตรวจพบในน้ำ ก็แสดงว่าน้ำนั้นน่าจะไม่ปลอดภัย คืออาจมีเชื้อโรคอยู่ในน้ำหรือในน้ำแข็งนั้น
โคลิฟอร์ม แบ่งตามแหล่งที่มา จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. ฟีคัลโคลิฟอร์ม (Fecal coliform) อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์เลือดอุ่น ถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระ เมื่อเกิดการระบาดของโรคระบบทางเดินอาหาร จะพบแบคทีเรียชี้แนะชนิดนี้ เช่น อี.โค.ไล (E.coli)
2. นันฟีคัลโคลิฟอร์ม (Non-fecal coliform) อาศัยอยู่ในดินและพืช มีอันตรายน้อยกว่าพวกแรก ใช้เป็นแบคทีเรียชี้แนะถึงความไม่สะอาดของน้ำได้ เช่น เอ. แอโรจิเนส (A. aerogenes)
น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตซึ่งนอกเหนือจากมีการบริโภคน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว เรายังบริโภคน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งด้วย น้ำจากแหล่งต่าง ๆ ที่กล่าวถึงอาจมีเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจหาโคลิฟอร์ม น้ำและน้ำแข็งที่ตรวจพบโคลิฟอร์มอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีอาการท้องร่วง ท้องเสีย อาเจียน เป็นไข้ ปวดศีรษะ หรืออาจเสียชีวิตได้
ในการตรวจสอบว่าในน้ำหรือน้ำแข็งมีโคลิฟอร์มแบคทีเรียหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ โดยใช้ชุดทดสอบโคลิฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่เราตรวจสอบเองตามคำอธิบายได้ไม่ยาก