นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่าโรคจากการทำงานเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เพราะการทำงานเป็นวิถีชีวิตประจำวันของคนวัยทำงาน ซึ่งการทำงานวันละ8ชั่วโมง ถ้าไม่ตระหนักอาจมีผลต่อสุขภาพ โรคฮิตที่พบบ่อยของคนทำงานในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานบริการ รวมทั้งพนักงานในออฟฟิศ เพราะจะต้องนั่งโต๊ะทำงาน ใช้คอมพิวเตอร์หรือทำงานกับตัวเลข มากกว่าการยืนทำงานบนสายพาน ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งการที่ต้องนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ทำให้ต้องนั่งเป็นเวลานาน การพิมพ์งานทำให้ต้องมีการเคลื่อนไหวซ้ำๆ ต้องใช้สายตา และอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานาน ดังนั้น สิ่งที่คนทำงานต้องเผชิญ คือโรคปวดหลัง โรคของเส้นเอ็นที่มือ ได้แก่ โรคประสาทอุโมงค์ข้อมือ โรคนิ้วล็อก ปวดศีรษะ ปวดตา และโรคผื่น ภูมิแพ้
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า วิธีป้องกันโรคที่เกิดจากการทำงานในออฟฟิศ คือ นั่งทำงานให้ถูกวิธีโดยนั่งเก้าอี้ควรนั่งหลังตรง มีพนักพิง แขนควรอยู่แนบข้างลำตัว ข้อศอกอยู่ในมุมตั้งฉากกับต้นแขน ข้อมือควรทอดตรงไม่ควรงอขึ้นหรือลง หรือบิดเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งเท้าควรเหยียบพื้นทั้งสองข้าง ถ้าไม่เหยียบพื้นควรมีที่รองเท้าเพื่อไม่ต้องเขย่งเท้า เวลาพิมพ์คอควรตั้งตรง มองไปข้างหน้า ขอบจอคอมพิวเตอร์ด้านบนควรอยู่ในแนวสายตา เมื่อพิมพ์ได้สักพักควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ วิธีที่ดีที่สุดคือการยืนขึ้นและบิดตัว หรือยืดแขนทั้งสองค้างครู่หนึ่ง หรือลุกเดิน แล้วค่อยกลับมานั่งพิมพ์ต่อ
สำหรับเรื่องสายตาการมองคอมพิวเตอร์นานๆ บางครั้งอาจจะลืมกระพริบตา ทำให้ตาแห้ง มีอาการแสบตา เคืองตาได้ จึงควรกระพริบตาบ้าง อาจจะทุก10นาที ทั้งนี้ ไม่ควรพิมพ์ในที่มืด บริเวณแสงรอบๆ จอคอมพิวเตอร์ควรมีขนาดความเข้มพอๆ กันไม่ควรมืดกว่ากัน นอกจากนี้ในห้องทำงานที่มีเครื่องถ่ายเอกสาร จะมีสารทำให้เกิดอาการระคายเคือง ผิวหนัง ตา ทางเดินหายใจได้ อาการที่พบ คือแสบคอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอเรื้อรัง ทำให้คิดว่าเป็นหวัด และการไปแพทย์อาจจะได้รับยาฆ่าเชื้อมาโดยไม่จำเป็น การป้องกันคือ หมั่นทำความสะอาดพื้น ตู้แอร์เปิดกระจกหน้าต่างระบายอากาศ ที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่านอนดึก เพื่อสุขภาพที่ดีสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์