สถานการณ์ในประเทศไทย
ไตรมาสที่1/2565 ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 (สายพันธุ์โอมิครอน BA.1 และ BA.2) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ติดต่อง่ายและไม่ค่อยแสดงอาการการติดเชื้อ กอปรกับที่ผ่านมาประชาชนเริ่มระมัดระวังการติดเชื้อน้อยลง จากการอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 มาอย่างยาวนาน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยบริษัทและโรงพยาบาลในเครือยังคงเข้าร่วมกับภาครัฐเพื่อให้บริการตรวจคัดกรอง กักกัน และดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งในเดือนมีนาคม 2565 ทางรัฐบาลได้เริ่มดำเนินนโยบายเปลี่ยนผ่านเพื่อเตรียมประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยรัฐบาลยังคงสนับสนุนด้านสาธารณสุขตามสิทธิของผู้ป่วย ทั้งนี้ผู้ป่วยสีเขียวที่มีอาการไม่รุนแรงให้เข้ารับการดูแลใน 3 รูปแบบ คือ
1) “เจอ แจก จบ” (Self Isolation)
2) การกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)
3) การกักตัวที่โรงแรม (Hotel Isolation)
บริษัทและโรงพยาบาลในเครือยังคงร่วมให้บริการตามนโยบายที่เปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที ส่งผลให้จำนวนผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองและผู้เข้ารับการรักษาในรูปแบบ Home Isolation และ Hotel Isolation เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
นอกจากการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 บริษัทและโรงพยาบาลในเครือยังคงมุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ภาคปกติอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับอุปสงค์อั้นของผู้ป่วยที่เลื่อนเข้ารับการรักษาในช่วงสถานการณ์ระบาดใหญ่ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ
ข้อมูลผลการดำเนินการ
ข้อมูลผลการดำเนินการในไตรมาสที่ 1/2565 โดยสังเขปดังนี้
บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 7,118.62 ล้านบาท
บริษัทมีกำไรขั้นต้นจำนวน 3,197.40ล้านบาท
กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทจำนวน 2,028.33 ล้านบาท
สัดส่วนรายได้แยกตามประเภทผู้ป่วย
- ผู้ป่วยทั่วไป รายได้ 5,639.48 ล้านบาท (สัดส่วน 79.22%)
- ผู้ป่วยโครงการประกันสังคม 1,447.78 ล้านบาท (สัดส่วน20.34%)
- อื่นๆ 31.36 ล้านบาท (สัดส่วน 0.44%)
บริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 จำนวน 28,688.09ล้านบาท
บริษัทมีหนี้สินรวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 จำนวน 12,255.48ล้านบาท
บริษัทมีเงินสดสุทธิ ณ วันที่31 มีนาคม 2565 จำนวน 4,172.54 ล้านบาท
บริษัทมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายดำเนินงาน จำนวน 4,380.99ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าคงเหลือและต้นทุนบริการ โดยเฉพาะรายการที่แปรผันตามการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับโรคโควิด-19 ในรูปแบบ Hospitel และ Home Isolation
โครงการประกันสังคม
ในเดือนมีนาคม 2565 ทางรัฐบาลได้ปรับนโยบายเปลี่ยนผ่านเพื่อเตรียมประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นโดยกำหนดให้ผู้ติดเชื้อสีเขียวที่มีอาการไม่รุนแรงเข้ารับการรักษาตามสิทธิของตนเอง ส่งผลให้การบริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนภายใต้โครงการประกันสังคมให้โรงพยาบาลตั้งเบิกค่าบริการทางการแพทย์ตรงกับสำนักงานประกันสังคม
บริษัทและโรงพยาบาลในเครือมีจำนวน ผู้ประกันตนเฉลี่ยจำนวน 935,824 ราย เพิ่มขึ้น 47,575 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.36จากไตรมาสที่1/2564)
ปี 2565 มีโรงพยาบาลในเครือที่เข้าร่วมโครงการ ประกันสังคมปีแรกของโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี
รายได้ค่าบริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคโควิด-19 ที่ตั้งเบิกตรงกับสำนักงานประกันสังคมในไตรมาสที่ 1/2565 รวมจำนวน 565.46ล้านบาท
การบริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา
บริษัทให้บริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาทางเลือกจำนวนกว่า 384,500 โดส
โรงพยาบาแห่งใหม่ใน สปป.ลาว
โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ก่อสร้างเสร็จแล้วและเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2564
แนวโน้มการดำเนินงานในอนาคต
จากรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และอัตราการตรวจพบเชื้อเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงขณะที่อัตราผู้เสียชีวิตยังคงทรงตัว โดยที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเปลี่ยนผ่านเพื่อเตรียมประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยโรงพยาบาลในเครือยังคงมุ่งมั่นร่วมให้บริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 และปรับเปลี่ยนแนวทางการให้บริการตามนโยบายของภาครัฐอย่างทันท่วงทีและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 บริษัทยังคงมุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ภาคปกติเพื่อรองรับ
อุปสงค์อั้นจากคนไข้ภายในประเทศและต่างประเทศ โดยแนวโน้มการดำเนินงานของบริษัทมีดังนี้
1. การเปิดให้บริการศูนย์รักษาแผลเบาหวาน
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลเกษมราษฎร์รามคำแหง ได้เริ่มให้บริการศูนย์รักษาแผลเบาหวาน โดยมีคณะแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาแผลเบาหวานพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อรองรับกลุ่มคนไข้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนไข้ชาวตะวันออกกลางซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งบริษัทคาดว่าการเปิดศูนย์รักษาแผลเบาหวานที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง จะสามารถดึงดูดกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่และช่วยสนับสนุนฐานรายได้จากกลุ่มคนไข้
ชาวตะวันออกกลางได้ทันที
2. การผ่อนคลายมาตรการภาครัฐและการเปิดประเทศ
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565รัฐบาลได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายและเปิดประเทศรับผู้เดินทางเข้าประเทศที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่ต้องตรวจคัดกรองโควิด-19จากการประกาศมาตรการดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เดินทางเข้ามาในประเทศจำนวนมาก โดยรัฐบาลคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเดินทางเข้าประเทศเฉลี่ย 300,000 ราย/เดือน และในช่วงเดือนตุลาคม -ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วง High Season คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่น้อยกว่า 1,000,000 ราย/เดือน โดยบริษัทคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชาวต่างชาติจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากอุปสงค์อั้นจากการเข้ารับบริการศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและศูนย์
การแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ ของโรงพยาบาลในเครือ นอกจากนั้นการประกาศเปิดด่านทางบกจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนให้แก่โรงพยาบาลในเครือที่ตั้งอยู่บริเวณด่านชายแดน อาทิโรงพยาบาลเกษมราษฏร์อินเตอร์เนชั่นแนล อรัญประเทศ ที่ตั้งอยู่บริเวณด่านชายแดนไทย-กัมพูชา และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ แม่สาย ที่ตั้งอยู่บริเวณด่านชายแดนไทย-พม่า นอกจากนั้น การประกาศเปิดประเทศของ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา จะทำให้เกิดการหมุนเวียนแรงงานและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกประเทศอย่างเสรี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนแก่โรงพยาบาลเกษมราษฏร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ นครหลวง เวียงจันทน์ สปป.ลาว
3. แนวโน้มการฉีดวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา
จากการประกาศเปิดประเทศและการประกาศเปิดภาคเรียนในรูปแบบศึกษาที่โรงเรียน (On-site)จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมถึงนักเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปเข้ารับวัคซีนโมเดอร์นาเข็มกระตุ้นมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มหลักมีแนวโน้มเข้ารับวัคซีนโมเดอร์นาเข็มกระตุ้มต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ไตรมาสที่4/2564 -ไตรมาสที่1/2565 โรงพยาบาลในเครือให้บริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาไปแล้วกว่า 735,500โดส ซึ่งผู้เข้ารับวัคซีนดังกล่าวมีแนวโน้มกลับเข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อเนื่อง โดยระหว่างนี้ทางบริษัทและโรงพยาบาลในเครือได้เปิดให้บริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาแบบ walk-in และมีการปรับค่าบริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นในอนาคต
4. แนวโน้มจำนวนผู้ประกันตนภายใต้โครงการประกันสังคม
ในปี 2565 บริษัทและโรงพยาบาลในเครือได้รับโควตาเพื่อรองรับการลงทะเบียนของผู้ประกันตนภายใต้โครงการประกันสังคมจำนวน 1,501,900 ราย โดยสำนักงานประกันสังคมเปิดให้ผู้ประกันตนสามารถแจ้งเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำสิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 16ธันวาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยที่ผ่านมามีผู้ประตนย้ายสิทธิมาลงทะเบียนกับโรงพยาบาลในเครือแล้วกว่า 73,000 ราย ส่งผลให้ณ วันที่1 พฤษภาคม 2565 บริษัทมีผู้ประกันตนลงทะเบียนจำนวนกว่า 974,800 ราย ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกันตนที่มีต่อศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในเครือ อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงมุ่งมั่น
ให้บริการแก่ผู้ประกันตนและตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีแรงงานใหม่เข้ามาในระบบการจ้างงานเพิ่มเติม
นอกจากนี้ บริษัทและโรงพยาบาลในเครือยังคงติดตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19และการประกาศปรับเปลี่ยนมาตรการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมุ่งมั่นให้บริการและพร้อมปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงทีเพื่อร่วมให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศต่อไป
บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน)