ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพผู้ต้องขัง เก็บมาเล่าจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

เรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพผู้ต้องขัง เก็บมาเล่าจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ Thumb HealthServ.net
เรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพผู้ต้องขัง เก็บมาเล่าจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ThumbMobile HealthServ.net

เรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพของผู้ต้องขัง เก็บมาเล่าจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีแง่มุมน่าสนใจ ให้เห็นภาพว่าผู้ต้องขังมีสภาพเป็นอยู่อย่างไร เช่น เมื่อเจ็บป่วยในเรือนจำได้รับการดูแลอย่างไร วิธีหลีกเลี่ยงโรคเอดส์ ภัยจากโรคร้ายที่เกิดในเรือนจำ ปัญหาการตั้งครรภ์ ยาเสพติด วิธีคลายเครียดในคุก ขอใบแพทย์ประกันตัว และอีกมากมาย

เรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพผู้ต้องขัง เก็บมาเล่าจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ HealthServ

เมื่อเจ็บป่วยในเรือนจำ

เมื่อผู้ต้องขังเจ็บป่วยในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลจะเป็นผู้ให้การดูแลเบื้องต้น หากอาการป่วยเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่จะรายงานผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อพิจารณาส่งตัวออกไปรับการรักษา ที่โรงพยาบาลภายนอก ในกรณีที่เป็นโรคเรื้อรังหรือต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลานาน ทางเรือนจำอาจพิจารณาส่งตัวผู้ป่วยมารับการรักษาที่ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเรือนจำกลางคลองเปรม กทม.
 
การรักษาผู้ต้องขังไม่ว่าจะเป็นที่สถานพยาบาลของเรือนจำ หรือที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จะเป็นการรักษาโดยที่ผู้ต้องขังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ยกเว้นการใส่ฟันปลอมบางประเภท


************



10 วิธีคลายเครียดในคุก

  1. ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เรือนจำมีงบประมาณสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์กีฬาให้ผู้ต้องขังเล่น เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเป็นการคลายเครียด
  2. เรียนหนังสือ ผู้ต้องขังสามารถใช้เวลาว่างให้ประโยชน์ได้ โดยการเรียนหนังสือซึ่งเรือนจำจัดมีการสอนตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงระดับ ปริญญา
  3. ฝึกวิชาชีพ นอกจากจะได้รับเงินปันผลจากการฝึกวิชาชีพแล้ว ผู้ต้องขังยังอาจนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษได้ (ในภาพ ผู้ต้องขังของทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง กำลังฝึกเจียรไนพลอย)
  4. หางานอดิเรกทำการปลูกผักสวนครัว นอกจากจะทำให้เพลิดเพลินแล้ว ยังสามารถนำผักที่ได้มาใช้เป็นอาหารได้อีกด้วย
  5. ดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรีโทรทัศน์เป็นสิ่งบันเทิงคลายเครียดที่มีอยู่ในทุกเรือนจำ (ในภาพ เป็นศูนย์ควบคุมทีวีวงจรปิดที่ทำหน้าที่ควบคุมการส่งข่าวสาร ภาพยนต์ รายการบันเทิงทางโทรทัศน์ ไปยังห้องผู้ป่วยทุกห้องภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
  6. ไหว้พระ สวดมนต์ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจที่ดีมากสำหรับผู้ต้องขัง (ในภาพ ผู้ต้องขังชาวมุสลิมกำลังทำพิธีทางศาสนา)
  7. เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่เรือนจำจัดขึ้น (ในภาพ เป็นงานสงกรานต์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลจัดให้ผู้ต้องขัง)
  8. นั่งสมาธิ การทำวิปัสนาหรือนั่งสมาธิช่วยให้ผู้ต้องขังมีจิตใจสงบและเยือกเย็น (ในภาพ คือผู้ต้องขังป่วยที่ออกมานั่งสมาธิที่สนามหญ้าในเวลาเช้า)
  9. ติดต่อพูดคุยกับญาติ การติดต่อกับญาติไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมหรือพูดคุยทางโทรศัพท์ จะช่วยให้สภาพจิตใจของผู้ต้องขังดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำวันแรกๆ
  10. ขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่เมื่อเกิดความเครียด เจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ เช่นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ อนุศาสนาจารย์ อาสาสมัคร ฯลฯ อาจช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านจิตใจและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์(ในภาพ เป็นอาสาสมัครจากกลุ่ม NGO ที่เข้ามาพูดคุยเป็นกำลังใจให้กับผู้ต้องขังในทัณฑสถานโรงพยาบาล)


************
 

ปัญหาการตั้งครรภ์

เมื่อหญิงตั้งครรภ์ถูกส่งตัวเข้ามาในเรือนจำ
 
เรือนจำจะดำเนินการดังนี้.....
1. เรือนจำจะส่งตัวไปนอนพักที่สถานพยาบาลภายในเรือนจำ และงดการทำงานทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ใกล้ครบกำหนดคลอด
 
2. เรือนจำจะนำตัวไปฝากครรภ์ที่สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลนอกเรือนจำที่สะดวกที่สุดโดยจะนำไปทุกครั้งตามที่แพทย์นัด
 
3. การคลอดภายในเรือนจำนั้น ทางเรือนจำจะพยายามหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับแม่และเด็ก เนื่องจาก สถานพยาบาลของเรือนจำมีบุคคลากรและเครื่องมือไม่เพียงพอ
 
4. เด็กที่เกิดจากผู้ต้องขัง ทางเรือนจำจะอนุญาตให้แม่เป็นผู้เลี้ยงดูภายในเรือนจำจนกว่าจะโต จนถึงวัยที่จำความได้ (ประมาณ 3 ปี)แล้วจึงให้ญาติรับตัวไป ในกรณีที่ไม่มีญาติ ทางเรือนจำอาจพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับตัวไปเลี้ยงแทน เช่น กรมประชาสงเคราะห์หรือ NGO(เช่น บ้านอาทร) หรือสถานรับเลี้ยงเด็กของกรมราชทัณฑ์เอง
 
5. เด็กที่อยู่ในเรือนจำนั้น ทางเรือนจำจะรับผิดชอบดูแลสุขภาพ ตลอดจนให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ส่วนนมผงและข้าวของเครื่องใช้สำหรับเลี้ยงดูเด็กอ่อนนั้น ผู้มีจิตกุศลสามารถติดต่อบริจาคได้ที่.....
 

ฝ่ายสงเคราะห์ผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์ โทร.0-2967-3357
ทัณฑสถานหญิงกลาง โทร.0-2589-5243
บ้านบุญญาทร โทร.0-2953-4246
ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โทร. 0-2953-3999
 

************

ติดคุกก็ใช้ E-mail ได้

 
นอกจากนี้ ภาพถ่ายดิจิตอลของผู้ต้องขังป่วยที่ส่งฝากไปกับ E-mail ให้ญาตินั้น ช่วยทำให้ญาติผู้ป่วยได้เข้าใจ และรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่และอาการป่วยของผู้ต้องขังได้ดี

ปัจจุบันนี้ กรมราชทัณฑ์ได้อนุญาตให้เรือนจำทุกแห่งรับ-ส่ง E-mail ให้กับผู้ต้องขังได้เรือนจำหลายแห่ง เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำกลางคลองเปรม ฯลฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว


กติกา :
 
  • อนุญาตให้รับส่ง E-mail ได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ยกเว้นในกรณีที่ฉุกเฉินหรือมีความจำเป็น
  • ผู้ต้องขังเขียนจดหมายส่งให้กับเจ้าหน้าที่พยาบาลที่รับผิดชอบได้ไม่เกิน1 หน้ากระดาษ A4
  • เนื้อหาในจดหมายต้องมีความเหมาะสม ไม่ทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
  • ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะ Scan จดหมายของผู้ต้องขังแล้วส่งให้ญาติในรูปของ Graphic file เพื่อประหยัดเวลาพิมพ์ และเพื่อให้ญาติเห็นเป็นลายมือของผู้ต้องขังเอง ส่วนญาติจะส่งมาเป็น Text file หรือ Graphic file ก็ได้
  • จดหมายทั้งเข้าและออก จะต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อนทุกฉบับ


 

วิธีหลีกเลี่ยงโรคเอดส์

 
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแนวโน้มของผู้ที่ถูกจำคุกด้วยคดีเสพยาส่วนใหญ่ จะเป็นยาบ้ามากกว่าเฮโรอีนก็ตาม ก็ยังคงมีผู้ต้องขังส่วนหนึ่ง ที่ยังคงลักลอบฉีดยาเสพติดในเรือนจำอยู่ ทั้งๆที่เสี่ยงต่อการถูกลงโทษและเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์
 
การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเอดส์ พฤติกรรมรักร่วมเพศในเรือนจำนั้น อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งๆที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย (เช่นผู้ต้องขังมีความเครียดสูง อยู่กันอย่างแออัด) การมีเพศสัมพันธ์ภายในเรือนจำมักจะทำโดยไม่มีการใช้ถุงยางป้องกัน จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์
 
วิธีเอาตัวรอดจากการติดเชื้อเอดส์ภายในเรือนจำ
1. อย่าใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกับผู้อื่นอย่างเด็ดขาด โอกาสติดเชื้อเอดส์มีสูงมาก เพราะกลุ่มผู้ต้องขังเป็นกลุ่มที่มีอัตราการติดเชื้อเอดส์ สูงกว่าประชากรทั่วไปหลายเท่า ในประเทศอังกฤษ ผู้บริหารเรือนจำที่มองเห็นอันตรายที่เกิดจากการติดเชื้อเอดส์ ว่าร้ายแรงกว่าติดยาเสพย์ติดมาก ถึงกับตั้งกฎไว้ 3 ข้อคือ
 
อย่าเสพยา
  • ถ้าจำเป็นต้องเสพ อย่าใช้ชนิดฉีด
  • ถ้าจำเป็นต้องฉีด ขอให้ใช้เข็มสะอาด
แต่ในเรือนจำของไทยนั้น ไม่มีนโยบายยืดหยุ่นแบบนี้ ถ้าจับได้ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังหรือเจ้าหน้าที่ก็ตาม จะถูกลงโทษอย่างเฉียบขาด
 
 
2. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ต้องขังอื่น (ถึงแม้จะมีถุงยางใช้ก็ไม่ควรเสี่ยง)ใช้วิธีช่วยตัวเองจะปลอดภัยกว่า ทางที่ดีไม่ควรหมกมุ่นกับเรื่องทางเพศให้มากเกินไปขอแนะนำให้ดูหัวข้อ 10 วิธีคลายเครียดระหว่างติดคุก
 
3. ห้ามสัมผัสเลือดของผู้ต้องขังอื่น ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ ผู้ต้องขังอื่นๆอาจเกิดอุบัติเหตุ หรือทะเลาะวิวาทกันจนบาดเจ็บมีเลือดออก การเข้าไปทำการปฐมพยาบาลห้ามเลือดควรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พยาบาลหรือ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หรือผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมหลักสูตรปฐมพยาบาลที่ทาง เรือนจำจัดอบรมให้แล้วเท่านั้น
 
ถ้าจำเป็นต้องสัมผัสกับเลือดเหล่านี้โดยตรง ต้องแน่ใจว่ามือของเราไม่มีบาดแผลอยู่
 

************
 

สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในเรือนจำ

สิ่งที่ควรทำ
 
  • ถ้ามีโรคประจำตัว ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันทีที่เข้าเรือนจำ
  • ถ้ามียาที่ต้องกินเป็นประจำ ควรแจ้งพยาบาลประจำเรือนจำ เพื่อตรวจสอบว่ามียาดังกล่าวในสถานพยาบาลหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็จำเป็นต้องติดต่อญาติเพื่อจัดส่งเข้ามา
  • พยายามดูแลสุขภาพให้ดี คุณอาจอยู่ในเรือนจำเพียงไม่กี่วันหรืออาจจะต้องอยู่อีกหลายสิบปี เราอยากเห็นคุณเดินออกจากคุกในสภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์
  • พยายามเป็นมิตรกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ต้องขังด้วยกัน คนเหล่านี้อาจช่วยคุณได้เมื่อถึงคราวจำเป็น
  • ควรใช้ชีวิตทุกๆ นาทีภายในเรือนจำให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และต่อสังคมภายนอก



สิ่งที่ไม่ควรทำ
 
  • ห้ามฝ่าฝืนกฎระเบียบต่างๆของเรือนจำเด็ดขาด มิฉะนั้น คุณจะถูกลงโทษ !!
  • อย่าแต่งกายหรือวางตัวให้ผิดกับผู้ต้องขังคนอื่น การทำตัวเป็นคนเด่นในคุกมีผลเสียมากกว่าผลดี
  • อย่าใช้เงินฟุ่มเฟือยจนเต็มพิกัดที่เรือนจำกำหนดทุกวัน คุณอาจถูกรีดไถหรือรังแกจากผู้ต้องขังอื่น อย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ใช่บอดี้การ์ดส่วนตัวของคุณ เขาไม่สามารถอยู่ปกป้องคุณได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • ถ้าเครียด อย่าใช้ ยาเสพติดหรือ การพนันเป็นเครื่องคลายเครียด มิฉะนั้น สถานการณ์ของคุณจะเลวร้ายลงทุกที
  • ถ้ามีผู้มาชักชวน หรือตัวคุณเองมีความรู้สึกอยากที่จะทำผิดระเบียบของเรือนจำ ก็ขอให้ย้อนกลับไปดู ข้อ 1.ใหม่

************
 

วัณโรค ภัยมืดในเรือนจำ

วัณโรคคร่าชีวิตผู้ต้องขังไปปีละหลายสิบรายป้องกันได้ยาก
 
เหตุผล :
เชื้อวัณโรคมากับอากาศ
ผู้ต้องขังอยู่รวมกันอย่างแออัด
ผู้ต้องขังมีเกณฑ์สุขภาพต่ำกว่าประชากรทั่วไป เพราะ มีผู้ติดยาเสพย์ติดและติดเชื้อเอดส์มาก


วิธีเอาตัวรอด :
1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

2. งดบุหรี่และยาเสพติด

3. แจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลทราบเมื่อมีอาการที่ส่อว่า อาจเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ หรือ ไอเป็นเลือด มีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด

4. เมื่อถูกตรวจพบว่าเป็นวัณโรค ต้องกินยาให้สม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง การรักษาวัณโรคภายในเรือนจำมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจาก เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จะเฝ้าดูการกินยาของผู้ป่วยทุกวัน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยได้กลืนยาลงไปจริง (ชนิดของยา วิธีกิน และการเฝ้าดูผู้ป่วยกินยา เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วโลก) เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ผู้ต้องขังไม่ควรหลีกเลี่ยงการกินยา
 
เจ้าหน้าที่ของทัณฑสถาน โรงพยาบาลฯ ต้องเฝ้าดูผู้ป่วย รับประทานยาต้านวัณโรคต่อหน้าทุกๆวัน
 
5. ในผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเอดส์ แพทย์จะพิจารณาให้ยาป้องกันวัณโรค เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อเอดส์ ที่มีวัณโรคแทรกซ้อนนั้นสูงมาก
 
6. ในกรณีที่ผู้ต้องขังย้ายเรือนจำหรือพ้นโทษก่อนที่การรักษาจะสิ้นสุด ก็จำเป็นต้องติดตามรักษาต่อจนครบกำหนดโดยเจ้าหน้าที่พยาบาลจะทำหนังสือเพื่อ ส่งตัวไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลของเรือนจำที่ผู้ต้องขังถูกย้ายไป หรือที่โรงพยาบาลภายนอกในกรณีที่พ้นโทษ
 
 

ติดคุกก็ทำความดีได้

 
สารพัดวิธีทำประโยชน์ให้กับสังคม
 
อาสาสมัครทำหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังอื่นๆที่สูงอายุ เจ็บป่วย พิการ ปัญญาอ่อน เป็นต้น โดยเรือนจำจะมีหลักสูตรอบรมความรู้ ที่ผู้ต้องขังสามารถนำไปใช้ในการดูแลผู้อื่นได้ เช่นอบรมทางด้านการปฐมพยาบาล การนวดแผนโบราณ การดูแลผู้มีปัญหาทางด้านจิตใจ ฯลฯ
     
 
อาสาสมัครบริจาค ดวงตา หรืออวัยวะให้สภากาชาดไทย
อาสาสมัครออกทำงานสาธารณะ เช่น ทำความสะอาดวัด ขุดลอกคูคลองหรือท่อระบายน้ำ
ร่วมกิจกรรมต่างๆที่เรือนจำจัดขึ้น เช่น รณรงค์งดสูบบุหรี่ ร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา
ช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยและสภาพแวดล้อมภายในเรือนจำ อย่าลืมว่า
"ถ้าต้องการอยู่ในเรือนจำให้สบายเหมือนอยู่ข้างนอก ผู้ต้องขังต้องช่วยกันทำเรือนจำให้น่าอยู่"
 
 
ขอใบแพทย์ประกันตัว
มีผู้ต้องขังจำนวนไม่น้อย ที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเหตุผลด้านการเจ็บป่วยผู้ต้องขังที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำหาก เจ็บป่วยและมีความจำเป็นต้องใช้ใบความเห็นแพทย์เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาขอ ประกันตัวที่ศาล ...
 
 
  • ในเรือนจำที่มีแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ประจำอยู่ เช่นเรือนจำในเขตกรุงเทพและปริมณฑล สามารถติดต่อขอจากแพทย์ได้โดยตรง
  • ในเรือนจำต่างจังหวัดสามารถติดต่อกับแพทย์ผู้รับผิดชอบงานอนามัยเรือนจำซึ่ง ได้แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทน
ข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยหรือประวัติการรักษาผ่าตัดก่อนหน้าที่จะเข้ามาในเรือนจำนั้นมีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้แพทย์สามารถใช้ประกอบการออกความเห็นได้ถูกต้องและรวดเร็ว

ในกรณีที่ขอใบความเห็นแพทย์เพื่อใช้ประกอบการทูลเกล้า ขอพระราชทานอภัยโทษก็ทำเช่นเดียวกับการขอไปเพื่อประกอบการประกันตัวในชั้น ศาล

ถ้ามีปัญหาหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม ส่ง E-mail ไปถามได้ที่ chote_hospital@hosdoc.co.th





************
 
 

วิธีออกจากคุกให้เร็วขึ้น

1. ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล
 
น่าจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดสำหรับผู้ต้องขัง ที่คดียังอยู่ใระหว่างการพิจารณาของศาล โดยเฉพาะคดีที่มีโทษจำคุกไม่มาก และเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด ศาลอาจพิจารณาให้ประกันตัวในกรณีที่มีหลักทรัพย์ ค้ำประกันเพียงพอหรือมีเหตุผลอื่นในการให้ประกัน เช่น สูงอายุ เจ็บป่วยร้ายแรง
 
2. พยายามเลื่อนชั้นให้เร็ว และ หลีกเลี่ยงการถูกตัดชั้น
 
ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว จะได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกมากหรือน้อยตาม "ชั้น"ของผู้ต้องขัง ดังนี้
 
  • ชั้นเยี่ยม ได้ลดโทษ เดือนละ 5 วัน
  • ชั้นดีมาก ได้ลดโทษ เดือนละ 4 วัน
  • ชั้นดี ได้ลดโทษ เดือนละ 3 วัน
เรือนจำจะแบ่งชั้นของผู้ต้องขังออกเป็นชั้นต่างๆ 6 ชั้นคือ
 
ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี ชั้นกลาง ชั้นเลว และชั้นเลวมาก
 
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประพฤติการปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำ และความตั้งใจในการฝึกวิชาชีพหรือเรียนหนังสือ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากพ้นโทษเร็ว ก็อย่าฝ่าฝืนระเบียบเรือนจำจนถูกตัดชั้น
 
3. ทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ
 
ผู้ต้องขังสามารถยื่นทูลเกล้าขอพระทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล และ อาจได้รับการพิจารณาเพื่อรับพระราชทานอภัยโทษ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันสำคัญต่างๆ เช่นวันเฉลิมพระชนม์พรรษา เป็นต้น
 
4. อาสาสมัครออกทำงานสาธารณะ
 
ผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดี และมีโทษจำคุกเหลือไม่มาก อาจได้รับการพิจารณาให้ออกมาทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ เช่น การขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ ซึ่งนอกจากจะได้รับเงินปันผลสูงถึง 80 % ของกำไรสุทธิจากรับจ้างงานสาธารณะแล้ว ผู้ต้องขังยังได้รับการลดโทษ เป็นจำนวนวันเท่ากับจำนวนวันที่ออกทำงานสาธารณะอีกด้วย
 
5. การขอพักการลงโทษ
 
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้ต้องขังออกจากเรือนจำได้เร็วกว่ากำหนด โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
 
ต้องจำคุกมาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษ
ถ้าเป็นคดีจำคุกตลอดชีวิต ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี

ระยะเวลาของการพักโทษมีดังนี้
  • ชั้นเยี่ยม ได้พักไม่เกิน 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ
  • ชั้นดีมาก ได้พักไม่เกิน 1 ใน 4 ของกำหนดโทษ
  • ชั้นดี ได้พักไม่เกิน 1 ใน 5 ของกำหนดโทษ

ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนพักการลงโทษ สำนักทัณฑปฏิบัติ
กรมราชทัณฑ์ โทร. 0-2967-3371 , 0-2967-3372 หรือสอบถามได้ที่เรือนจำทุกแห่ง



*****************


 

เตรียมตัวออกจากคุก

 
เมื่อใกล้พ้นโทษ เรือนจำทุกแห่งจะต้องเตรียมการดังนี้
 
  • เตรียมข้อมูลผู้ต้องขังพ้นโทษ พร้อมรูปถ่ายของผู้ต้องขัง ส่งไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • เตรียมอบรมก่อนปลดปล่อย ซึ่งจะมีทั้ง การอบรมด้านศีลธรรม การฝึกวิชาชีพ การศึกษา ในเรือนจำบางแห่ง อาจย้ายผู้ต้องขังมาอยู่รวมกันในแดนเดียวกันเพื่อสะดวกในการอบรม
  • ให้คำแนะนำแก่ผู้ต้องขัง ในการปฏิบัติตัวเมื่อกลับไปอยู่ในสังคมภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยังอยู่ในระหว่างการคุมประพฤติ ซึ่งผู้ต้องขังจะต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด หากทำผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติ ก็อาจถูกส่งตัวกลับไปในเรือนจำได้อีก
  • ประสานงานแจ้งให้ญาติทราบเพื่อมารับตัววันพ้นโทษ

ส่วนตัวผู้ต้องขังเองนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ
 
  • ดูแลสุขภาพของตนเองให้ดี ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตดีขึ้นเมื่อใกล้พ้นโทษ แต่บางคนอาจเครียดและกังวลเพราะไม่รู้ว่าพ้นโทษแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างไร
  • ในเรือนจำผู้ที่พอจะให้คำปรึกษาได้ ก็คือ นักสังคมสงเคราะห์ อนุศาสนาจารย์ นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่พยาบาล
 
ผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษที่มีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับการบำบัดรักษาโรคจาก เรือนจำ เช่น วัณโรคปอด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯจำเป็นต้องเตรียมขอประวัติการรักษาพยาบาล เพื่อนำไปใช้ในการรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลภายนอก


 
************
 

ปัญหาวันพ้นโทษ

 
พ้นโทษแล้วไปไหน
เคยมีคนทำวิจัย (เรือนจำที่เสปน) พบว่า ภายใน 24 ชั่วโมงหลังพ้นโทษ
 
  • 80% ของผู้ต้องขังที่พ้นโทษจะ ไปเที่ยวโสเภณี
  • 75% ของผู้ต้องขังที่พ้นโทษจะ ไปหายาเสพย์ติด (ผู้ต้องขังที่มีประวัติติดยา)
 
ขอเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า จะทำอะไรขอให้คิดถึงผลร้ายที่จะตามมา ถ้าไม่รู้ว่าจะไปไหน ก่อนพ้นโทษขอให้ติดต่อกับอนุศาสนาจารย์ของเรือนจำ มีหลายเรือนจำให้บริการติดต่อกับวัดใกล้เคียงเพื่อทำพิธีอุปสมบทให้ เพื่อเป็นศิริมงคล
 
นอกจากนี้ หลายเรือนจำก็มีบ้านกึ่งวิถี (Half way house) สำหรับรองรับผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วญาติมารับตัวไม่ทัน เช่น ศาลสั่งปล่อยตัวกระทันหัน จึงไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า ผู้ต้องขังบางคนอาจจะไม่มีญาติเลย จึงต้องอาศัยอยู่ในบ้านกึ่งวิถีไปพลางๆก่อนเพื่อรอหางานทำหรือรอความช่วยเหลือจากกรมประชาสงเคราะห์
 
สำหรับในบริเวณเรือนจำกลางคลองเปรม ถนนงามวงศ์วาน ก็มีบ้านกึ่งวิถีที่ชื่อว่า "บ้านสวัสดี" ไว้รองรับผู้ต้องขังที่พ้นโทษจากเรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเรือนจำอื่นๆในเขตกรุงเทพและปริมณฑล


****************
 


วิธีนอนให้สบายในคุก


รูปที่เห็นพร้อมกรอบข้างล่างแสดงถึงพื้นที่นอนของผู้ต้องขัง 1 คนตามมาตรฐานสากลคือ 7.5 ตารางเมตร ต่อ คน
 
 
 
 
ส่วนในประเทศไทยนั้น มาตรฐานขั้นต่ำของพื้นที่นอน สำหรับผู้ต้องขังที่กำหนดโดยกรมราชทัณฑ์ คือ 2.25 ตารางเมตรต่อผู้ต้องขัง 1 คน (ดังรูปข้างล่าง)ซึ่งเป็นขนาดที่พอจะยอมรับได้ ถ้าการระบายอากาศในห้องนอนอยู่ในเกณฑ์ดี
 
 
แต่ ในความเป็นจริงนั้น ผู้ต้องขังมีพื้นที่นอน น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถึง 3 เท่า !! (สถิติปี 2542)คือ เฉลี่ยแล้วผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีพื้นที่นอนเพียง 0.85 ตารางเมตร ซึ่งหมายความว่าถ้าผู้ต้องขังมีส่วนสูง 170 เซนติเมตร ก็จะมีเนื้อที่นอนกว้างเพียง 50 เซนติเมตรเท่านั้น (ดังรูป) เพราะฉะนั้น การจะนอนให้หลับสบายจึงเป็นไปไม่ได้
 
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจำนวนผู้ต้องขังถูกจับกุมเข้ามาอยู่ในเรือนจำมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ต้องขังคดียาเสพย์ติด
 
การแก้ไขปัญหา โดยผู้บริหารเรือนจำ

ต่อเติมเรือนนอนเพิ่มขึ้น เช่น ใช้ใต้ถุนเรือนนอนที่ยังว่างอยู่ หรือทำที่นอนให้เป็นสองชั้น เป็นต้น ซึ่งทำได้ยากเนื่องจากกรมราชทัณฑ์ได้รับงบประมาณน้อยมาก และไม่มี งบสร้างเรือนจำเพิ่ม
ลดความรู้สึกอึดอัดในเรือนนอน โดยติดตั้งพัดลมและพัดลมระบายอากาศเพิ่มขึ้น พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องยุงหรือแมลง ที่มารบกวนซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ
ทำทุกวิถีทางที่จะปล่อยตัวผู้ต้องขังที่มีโทษเหลือน้อย และมีความประพฤติดีออกจากเรือนจำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความแออัดลง โดยวิธีการพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษจำคุก หรือ โอนตัวผู้ต้องขังตามสนธิสัญญาโอนตัวผู้ต้องขังต่างชาติ กลับไปจำคุกที่ประเทศของตนเอง
พยายามโยกย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำที่แออัดมาก ไปยังเรือนจำที่มีความแออัดน้อยกว่า
โยกย้ายผู้ต้องขังคดีเสพยาเสพย์ติดที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ไปรับการบำบัดการติดยาเสพย์ติดที่ค่ายทหารต่างๆ
ข้อแนะนำสำหรับผู้ต้องขัง....ทางสว่าง.....
ถ้ามีปัญหานอนไม่หลับ พยายามออกกำลังกายหรืออาสาสมัครทำงานที่ต้องใช้แรงงาน ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้หลับง่ายขึ้น
ไม่ควรใช้ยานอนหลับช่วย เพราะจะทำให้ติดยา และต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ
การสวดมนต์ ไหว้พระ หรือนั่งสมาธิ ทำวิปัสสนา ก็อาจช่วยได้ ควรปรึกษาอนุศาสน์ของเรือนจำ
ขอยืมหนังสือธรรมะจากห้องสมุดเรือนจำมาอ่านก่อนนอน (วิธีนี้ทำให้ง่วงนอนได้เร็วมาก ไม่ว่าผู้ต้องขังจะรู้ซึ้งถึงรสพระธรรมหรือไม่ก็ตาม)





********************


 

ติดคุกฟรี ใครรับผิดชอบ

 
เมื่อติดคุกฟรี และถูกปล่อยตัวแล้ว สิ่งที่มักจะตามมา (ตามประสาคนไทย) ก็คือ
 
ไปหาหลวงพ่อ รดน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ ส่วนการที่ต้องเสียเวลาเข้ามาอยู่ในคุกถูกไล่ออกจากงาน จนป่านนี้ก็ยังหางานทำไม่ได้ ก็ถือว่าฟาดเคราะห์ไป.....เวรกรรม.....

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง พาไปเลี้ยงฉลองที่ไม่ต้องติดคุก...ไชโย ๆ ๆ...ส่วนที่ต้องหลงเข้ามาอยู่ในคุกเป็นเดือนหรือเป็นปี ก็ถือว่าแล้วกันไป...ขอกันกินมากกว่านี้ถ้าท่านพอใจอยู่แค่นี้ ความยุติธรรมจะมีเหลืออยู่อีกหรือ
เราขอแนะนำให้ผู้ต้องขังที่ต้องติดคุกฟรีทุกคน ใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายซึ่ง เรื่องนี้รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดย
 
จ่ายเงินชดเชยที่ต้องเข้ามาอยู่ในคุก โดยนับเป็นรายวัน ติดคุกนานก็ได้รับเงินค่าชดเชยมาก

จ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ถ้าความเจ็บป่วยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี
ถ้าติดคุกแล้วตาย และการตายเป็นผลจากการถูกดำเนินคดี รัฐบาลต้องจ่ายในอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ

ระหว่างติดคุก ไม่ได้ทำงาน ครอบครัวขาดรายได้ ก็ต้องได้รับเงินชดเชยด้วย

ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการต่อสู้คดี รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ

อยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ติดต่อไปได้เลยครับ ที่.....
 
สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา สำนักงานที่ว่านี้อยู่ที่ ชั้น 25 ตึกกระทรวงยุติธรรม เลขที่ 99 หมู่4 ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 โทรศัพท์ 0-2502-8083, 0-2502-6539
 
ที่สำคัญก็คือ ต้องเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 1 ปี
มิฉะนั้นหมดสิทธิ.....นะ...จะบอกให้


********************

เรื่องจาก ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด