ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

แนะสถานพยาบาลช่วยการเจริญพันธุ์ ยึดหลัก “8 ห้าม 3 มี 3 ขอ” ป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย

แนะสถานพยาบาลช่วยการเจริญพันธุ์ ยึดหลัก “8 ห้าม 3 มี 3 ขอ” ป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย Thumb HealthServ.net
แนะสถานพยาบาลช่วยการเจริญพันธุ์ ยึดหลัก “8 ห้าม 3 มี 3 ขอ” ป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ThumbMobile HealthServ.net

แนะสถานพยาบาลที่ให้บริการช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ทั้ง 70 แห่งทั่วประเทศ ยึดหลัก “8 ห้าม 3 มี 3 ขอ” เป็นหลักปฏิบัติช่วยคู่สามี ภรรยาที่มีบุตรยากให้สามารถมีบุตรตามหวัง ป้องกันการกระทำผิดกฎหมายทั้งการซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออก อสุจิ ไข่ ตัวอ่อน หรือเป็นนายหน้า และหากผู้ใดพบการกระทำผิดให้แจ้งที่สายด่วน สบส. 02 193 7999 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง กรม สบส.จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยทันที

แนะสถานพยาบาลช่วยการเจริญพันธุ์ ยึดหลัก “8 ห้าม 3 มี 3 ขอ” ป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย HealthServ
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร โฆษกกรมสนับสุนนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแพทย์ที่มีความสามารถและเทคโนโลยีฯที่ทันสมัย ทำให้อัตราความสำเร็จจากการรับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ค่อนข้างสูง และในขณะนี้มีสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านนี้ 70 แห่งทั่วประเทศ ชาวต่างประเทศทั้งจีน อิสราเอล ออสเตรเลีย และอเมริกา ฯลฯ ต่างให้การยอมรับ และเดินทางเข้ามารับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ กับแพทย์และสถานพยาบาลของไทยอย่างต่อเนื่อง


ดังนั้น เพื่อช่วยให้คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีบุตรยากได้มีบุตรตามต้องการโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์  และกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็ก ตลอดจนควบคุมการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ มิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงร่วมตรากฎหมาย พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ขึ้น โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2558
 
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า เพื่อให้การรักษาแก่สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายและมีบุตรยาก โดยไม่มีการแสวงประโยชน์ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ ขอให้สถานพยาบาลทุกแห่งยึดหลักเกณฑ์ของกฎหมายอุ้มบุญ ด้วยหลักการง่ายๆ คือ

“8 ห้าม 3 มี 3 ขอ” ก่อนดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีฯ ดังนี้

8 ห้าม ได้แก่
1) ห้ามเลือกเพศ
2) ห้ามซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออก ไข่/อสุจิ/ตัวอ่อน
3) ห้ามรับจ้างตั้งท้อง 
4) ห้ามโฆษณา
5) ห้ามโคลนนิ่ง
6) ห้ามมีคนกลางหรือเอเจนซี่
7) ห้ามคู่สมรสต่างชาติทั้งคู่ แต่หากคู่สมรสชาวต่างชาติต้องการคำปรึกษา หรือรับบริการเทคโนโลยีฯ เช่น การทำกิ๊ฟท์ (GIFT) ทำซิฟท์ (ZIFT) ผสมเทียม (IUI)  ก็สามารถทำได้ ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย และ
8) ห้ามปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน
 

3 มี ได้แก่

1) สถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ได้มีการรับรองมาตรฐานตามกฎหมาย

2) มีแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา และ

3) มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน


ส่วน 3 ขอ ได้แก่

1) ต้องขออนุญาต เปิดเป็นสถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายกับกรม สบส. 

2) ขออนุญาต ให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นรายคู่จากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) ซึ่งอนุญาตเฉพาะคู่สมรสไทยที่สมรสถูกต้องตามกฎหมาย หรือคนไทยที่สมรสกับต่างชาติและจดทะเบียนสมรสมาแล้วอย่างน้อย 3 ปีเท่านั้น  และ

3) ขออนุญาต ให้มีการวิจัยตัวอ่อนที่เหลือใช้จากการบำบัดรักษาภาวะมีบุตรยากของสามี และภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายจาก กคทพ. ทุกครั้ง


 
      ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า สถานพยาบาลใดกระทำการซื้อ ขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากกระทำการเป็นนายหน้า ชี้ช่องทางให้มีการรับตั้งครรภ์แทน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


หากประชาชนพบเห็นการรับจ้างตั้งครรภ์, ซื้อ ขาย นำเข้า หรือส่งออก ไข่ อสุจิ ตัวอ่อน, คนกลางชี้ช่องทางให้มีการอุ้มบุญ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน สบส. 02 193 7999 ตลอด 24 ชั่วโมง

หรือหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่กลุ่มคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 02-193-7000 ต่อ 18418 หรือ 18419

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด