25 พฤษภาคม 2565 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคผีดาษวานร (Monkeypox) ว่า เป็นโรคที่แพร่ระบาดในประเทศแถบแอฟริกามาหลายปี แต่ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มพบผู้ป่วยในประเทศแถบยุโรป มีความเชื่อมโยงกับการเดินทางไปแอฟริกา และมีการแพร่ระบาดภายในบางประเทศ
ผู้ติดเชื้อในยุโรปขณะนี้มีรายงาน 257 ราย ใน 18 ประเทศ ประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ คือ เดนมาร์ก โมรอกโก และอาร์เจนตินา
ข้อมูลทางระบาดวิทยาเท่าที่มีรายงาน พบเป็นเพศชาย 122 คน เพศหญิง 1 คน เป็นวัยทำงานอายุ 20-59 ปี จำนวน 61 คน
รายงานอาการป่วย 57 คน พบเป็นผื่น/ตุ่มนูน 98% ไข้ 39% ต่อมน้ำเหลืองโต 26% และไอ 2% โดยลักษณะของผื่น เป็นตุ่มแผลก้นลึก 75% ตุ่มน้ำใส 9% ผื่นนูน/ตุ่มหนอง 2% บริเวณที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน เช่น อวัยวะเพศ 39% ปาก 30% และรอบทวารหนัก 2%
ตรวจพบสายพันธุ์ West African 9 ราย
ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานรมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ West African Clade ซึ่งอัตราป่วยตายอยู่ที่ 1% ต่ำกว่าสายพันธุ์ Central African Clade ซึ่งมีอัตราป่วยตาย 10% มีสัตว์ที่เป็นรังโรค คือ สัตว์ฟันแทะและลิง ติดต่อจากสัตว์สู่คน ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือแผลของสัตว์ที่ป่วย
ส่วนการติดจากคนสู่คน จะผ่านการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมากๆ สัมผัสกับแผลหรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรง หรือเสื้อผ้าของใช้ผู้ป่วยที่มีสารคัดหลั่ง ซึ่งบางประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด มีการรวมกลุ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้นช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
โรคฝีดาษวานร จะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 5-21 วัน อาการป่วยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรุนแรง ช่วง 5 วันแรก จะมีอาการนำ คือ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ และหมดแรง ระยะนี้เริ่มแพร่เชื้อได้บ้างแล้ว และช่วงออกผื่น 2-3 วันหลังมีไข้ จะมีผื่นขึ้นเริ่มจากใบหน้า ลำตัว แขนขา รวมถึงบริเวณที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ช่องปาก และอวัยวะเพศ เริ่มจากตุ่มนูนแดงเล็กๆ เป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง เมื่อแตกจะมีแผลเป็นหลุม ส่วนใหญ่หายเองได้ บางรายอาจมีเป็นแผลเป็น และบางรายอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาสุขภาพเดิม อาจมีปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่กระจกตาทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง โดยศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษวานร กรมควบคุมโรค ซึ่งคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้จัดโรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศ การแพร่กระจายของโรคเป็นลักษณะของการใกล้ชิดกันมากๆ เฉพาะกลุ่ม และยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปหลายทวีป อัตราป่วยตายยังเป็นสายพันธุ์ที่ป่วยรุนแรงน้อย โดยจะเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าประเทศที่มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการป่วยอย่างน้อยหนึ่งอย่าง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีผื่นตุ่มนูน ร่วมกับประวัติเดินทางหรืออาศัยในประเทศที่มีรายงานการระบาด มีประวัติร่วมกิจกรรมที่มีรายงานพบผู้ป่วยเข้าข่ายหรือยืนยัน และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนำเข้าจากแอฟริกา นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล คลินิกโรคผิวหนัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมทั้งเตรียมการในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ทีมสอบสวนโรค รวมถึงเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ไว้แล้ว
คัดกรองเข้มเดินทางเข้าประเทศผ่าน Thailand Pass
กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมควบคุมโรค โดยกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค เริ่มให้บริการคัดกรองโรคฝีดาษลิงสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ผ่านระบบ Thailand Pass ซึ่งจะช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้
ส่วนการเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ คือ เน้นการติดตามเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ประเทศในแถบทวีปแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว ซึ่งเมื่ออยู่ที่สนามบินในประเทศต้นทางอาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย อาจมีอาการได้ ซึ่งการคัดกรองจะดูว่ามีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส หรือประวัติมีไข้ร่วมกับมีอาการหนึ่งอาการ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต ประกอบกับมีผื่นกระจายตามลำตัวมีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด และเดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ใน ประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศภายใน 21 วัน พร้อมทั้งแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็น QR code ให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวสแกนเข้าระบบเพื่อรายงานอาการป่วย ซึ่งหลักๆ ในบัตรจะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด รวมถึงแจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย
สำหรับการป้องกันโรคฝีดาษลิง ให้ปฏิบัติ ดังนี้ โรค
1) กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที
2) ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรอง และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วย มีการแพร่กระจายเชื้อ
3) หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
4) หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
5) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ฝีดาษวานร ยังไม่ควรตื่นตระหนกมาก - ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
1. เชื้อไวรัสนี้จะแพร่ต่อเมื่อคนติดเชื้อเริ่มมีอาการแล้ว ได้แก่ ไข้ปวดหัว ปวดเมื่อย มีต่อมน้ำเหลืองโต และที่สำคัญก็คือ จะมีผื่นที่ปรากฏเห็นได้ชัด ที่หน้าที่แขนและที่มือหลังจากเริ่มอาการป่วยไม่นาน
2. ความสามารถในการติดจากคนสู่คน ต่ำกว่า small pox หรือโรคฝีดาษซึ่งเป็นเชื้อสายพันธุ์ต้นตระกูลมากมาย
3. หากติดเชื้อ ความรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต โดยทั่วไปจะถือว่าน้อยกว่า 10% แต่ในความเป็นจริงแล้ว อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ต่ำมาก ประมาณ 1% หรือมากกว่า1% นั้นเล็กน้อย
4. ไวรัสตัวนี้เป็นชนิด DNA ดังนั้นความสามารถที่จะมีการแปรผันรหัสพันธุกรรมเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่แบบโควิดนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย
5. การติดเชื้ออยู่ที่การสัมผัสใกล้ชิด ฝอยละออง จากการไอ จาม น้ำลาย จากคนติดเชื้อ ที่มีอาการแล้ว
และกรณีที่ติดจากสัตว์ จะเป็นจากการสัมผัสใกล้ชิด หรือ กับสัมผัสเนื้อ หรือสิ่งคัดหลั่งเลือด เวลาที่ทำอาหาร เช่นในแอฟริกา
อย่ากลัวสัตว์มาก เพราะในกรณีนี้ในประเทศต่างๆ คนติดจากคนด้วยกัน (ในการเกิดโรคเป็นกระจุก หลาย 10 ปีที่ผ่านมาในแอฟริกา เป็นจากสัตว์มาคน และคนสู่คน)
6. การติดเชื้อเป็นกระจุกเล็กๆมีมาในอดีตหลาย 10 ปีที่แล้วเช่นในสหรัฐเป็นต้น ไม่ใช่เรื่องใหม่
7. วัคซีนฝีดาษที่พวกเราสมัยก่อนเคยได้รับเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว จะได้ผลกับ monkey poxนี้ แต่ เป็นวัคซีนที่มีผลข้างเคียงพอสมควร โดยเฉพาะการเกิดสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกันแปรปรวนและมีความรุนแรงของผลข้างเคียงถึงเสียชีวิตได้ถึง 50%
และขณะนี้วัคซีนรุ่นใหม่ถึงมีการพัฒนาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ใช้แพร่หลาย เนื่องจากตัวโรคเองนั้นยังไม่เป็นโรคระบาด ไม่ได้มีความน่ากลัวรุนแรงแพร่กระจายในวงกว้างแบบฝีดาษ
8. การรักษายังคงเป็นการประคับประคองตามอาการแม้ว่าจะมียาที่ใช้ในยุโรป แต่เป็นการป้องกันไม่ให้มีการแพร่จากคนที่ติดเชื้อออกไปมากกว่า
สรุปสั้นๆก็คือ
การป้องกันตัวที่เราปฏิบัติขณะนี้สำหรับป้องกันโควิด ก็เหมาะกับเชื้อนี้เช่นเดียวกันคือการใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาสุขอนามัย เมื่อตนเองไม่สบายมีไข้ปวดเมื่อย อย่าอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่นและถ้ามีอาการหนักขึ้นปรึกษาแพทย์
ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ของเราเตรียมพร้อมในการวินิจฉัยฝีดาษวานรเรียบร้อยแล้ว
หมอดื้อ 20/05/2565