24 เมษายน 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ว่า จากรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด 19 ภายในประเทศรายสัปดาห์ พบว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 16-22 เมษายน 2566) พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,088 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 73 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 35 ราย และผู้เสียชีวิต 5 ราย เฉลี่ยน้อยกว่า 1 คนต่อวัน
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนกว่า 2 เท่า พบกระจายในหลายจังหวัดโดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงเทพ ฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี เป็นต้น
ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในสมาชิกครอบครัว และการร่วมกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย พบว่าเป็นกลุ่ม 608 อายุเฉลี่ย 75 ปี โดย 4 รายที่เสียชีวิตเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน และอีก 1 ราย ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วเกิดอาการรุนแรง
ดังนั้น การฉีดวัคซีนหรือวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จึงยังมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน สามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ได้เช่นกัน โดยติดต่อขอรับบริการได้ที่สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน นอกจากนี้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หากต้องไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะ และหากติดเชื้อโควิด 19 ให้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล ซึ่งได้จัดเตรียมยาและวัคซีนไว้ให้บริการอย่างเพียงพอ
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับคำแนะนำแนวทางการฉีดใหม่ให้เป็นการฉีดวัคซีนโควิดประจำปี จึงขอให้ประชาชนเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปีก่อนเข้าฤดูฝนซึ่งจะเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก โดยฉีดปีละ 1 เข็ม สามารถใช้วัคซีนชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้ โดยให้ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน และไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าใด ที่สำคัญสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้มีการจัดเตรียมวัคซีนโควิด 19 ให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และได้มีการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ที่หน่วยบริการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ เช่น สถาบันโรคผิวหนัง,สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, สถาบันประสาทวิทยา, สถาบันโรคทรวงอก, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ,สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี, ศูนย์การแพทย์บางรัก, รพ.ราชวิถี, รพ.สงฆ์, รพ.เลิดสิน, รพ.นพรัตนราชธานี, รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี, รพ.เมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง), รพ.มะเร็งชลบุรี, รพ.มะเร็งลพบุรี, รพ.มะเร็งอุดรธานีร่วมกับรพ.ธัญญารักษ์อุดรธานี, รพ.มะเร็งอุบลราชธานี, รพ.ประสาทเชียงใหม่, รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น, รพ.โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จ.ตรัง, รพ.ธัญญารักษ์ปัตตานี, รพ.มะเร็งสุราษฎร์ธานี และสถาบันบำราศนราดูร ในกรุงเทพมหานคร สามารถรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ กทม. สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค วันที่ 24 เมษายน 2566